บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (ThaiBev) ที่ระดับ ‘BBB’ และอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ระดับ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
การคงอันดับเครดิตของ ThaiBev สะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่ยังคงแข็งแกร่งของ ThaiBev ในฐานะผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึงแบรนด์ที่แข็งแกร่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในตลาดสุรา เครือข่ายการกระจายสินค้าที่กว้างขวาง และการมีสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่หลากหลาย นอกจากนี้ อัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนอันดับเครดิตของ ThaiBev อีกด้วย
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต คือ ผลประกอบการในธุรกิจเบียร์ที่ดีขึ้น ฟิทช์คาดว่ายอดขายและความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจเบียร์ของ ThaiBev จะยังคงแข็งแกร่งในช่วงสามปีข้างหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากยอดขายและกำไรที่เติบโตสูงอย่างต่อเนื่องหลังจากการปรับปรุงและเปิดตัวใหม่ของผลิตภัณฑ์เบียร์ช้างในปี 2558 การบริโภคเบียร์ที่ลดลงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ในช่วงระยะเวลาไว้ทุกข์ 1 ปี น่าจะส่งผลกระทบให้ยอดขายเบียร์ลดลงในปีงบการเงินสิ้นสุดเดือนกันยายน 2560 (ปีงบการเงิน 2560) อย่างไรก็ตาม การลดลงของยอดขายดังกล่าวน่าจะมีผลกระทบเพียงระยะสั้น โดยฟิทช์คาดว่ายอดขายเบียร์จะกลับมาอยู่ในระดับปกติในปีงบการเงิน 2561
นอกจากนี้ ฟิทช์ยังคาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต (EBITDA Margin) ของธุรกิจเบียร์จะอยู่ในระดับร้อยละ 20-23 ในปีงบการเงิน 2560 – 2562 (ปี 2559 อยู่ที่ระดับร้อยละ 21 และปี 2558 อยู่ที่ระดับร้อยละ 13) การปรับตัวสูงขึ้นของอัตรากำไรดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลงอันเนื่องมาจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับเพิ่มราคาขายสินค้า
ธุรกิจสุราที่ยังคงแข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่าธุรกิจสุราของ ThaiBev จะยังคงเป็นธุรกิจหลักที่สร้าง EBITDA ให้กับบริษัทฯ โดย EBITDA Margin น่าจะยังคงแข็งแกร่งอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 55 ของรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต (ปีงบการเงิน 2559 อยู่ที่ระดับร้อยละ 54) แม้ว่าผลประกอบการจะได้รับผลกระทบระยะสั้นจากช่วงระยะเวลาไว้ทุกข์ 1 ปี ในช่วงปีงบการเงิน 2560 และความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตในเดือนกันยายน 2560 ฟิทช์เชื่อว่ายอดขายและ EBITDA ของธุรกิจสุราจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนระยะเวลาไว้ทุกข์ในปีงบการเงิน 2561 และมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 2-4 ต่อปีในปีต่อๆ ไป ThaiBev สามารถรักษาผลประกอบการที่ดีได้ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตหกครั้งรวมถึงช่วงเศรษฐกิจตกต่ำหลายครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคสุราที่ผลิตในประเทศมีความยืดหยุ่นต่อราคาค่อนข้างต่ำ รวมถึงการแข่งขันในตลาดที่มีอยู่อย่างจำกัด
ผู้ผลิตเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ อันดับเครดิตของ ThaiBev ได้รับการสนับสนุนจากการเป็นผู้นำในตลาดเครื่องดื่มในประเทศ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 90 ของปริมาณการจำหน่ายสุรา และร้อยละ 40 ของปริมาณการจำหน่ายเบียร์ในประเทศ ในปี 2559 ฟิทช์คาดว่า ThaiBev จะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ได้ในช่วงสามปีข้างหน้า โดยได้รับการสนับสนุนจากความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งทั้งในด้านขนาดธุรกิจและเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้า นอกจากนี้ กฎเกณฑ์ข้อบังคับเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้มงวดของประเทศไทย มีส่วนในการสร้างอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ประกอบการรายใหม่ ปัจจัยสนับสนุนต่างๆ เหล่านี้ช่วยให้ ThaiBev สามารถรักษา EBITDA Margin ไว้ได้ที่ระดับสูงกว่าร้อยละ 50 สำหรับกลุ่มธุรกิจสุราในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่ EBITDA Margin ของกลุ่มธุรกิจอื่นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ส่งผลให้ EBITDA Margin โดยรวมของบริษัทฯ อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 30-35 ของรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต
เครือข่ายการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง โดยเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าทั่วประเทศที่แข็งแกร่งของ ThaiBev น่าจะยังคงสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่สำคัญให้แก่บริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง และเป็นอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมของผู้ประกอบการรายใหม่ บริษัทฯ สามารถที่จะบริหารเครือข่ายการขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีรถขนส่งจำนวน 7,000 คัน และมีจุดจำหน่ายสินค้ามากกว่า 400,000 จุดทั่วประเทศ โดยสามารถใช้ร่วมกันได้กับเครื่องดื่มทุกชนิด ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ของไทยมีลักษณะกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยกลุ่มร้านค้าปลีกรายย่อยแบบดั้งเดิมยังคงเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีสัดส่วนสูงที่สุด การจัดจำหน่ายผ่านช่องทางนี้จำเป็นต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ยาวนาน เครือข่ายที่กว้างขวาง และมีต้นทุนค่าขนส่งที่สูงในการเข้าถึงตลาดทั่วประเทศ
รายได้ที่ค่อนข้างมั่นคง รายได้และกำไรของ ThaiBev มีความผันผวนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ การขายสินค้าที่หลากหลาย ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และการมีสินค้าหลายระดับราคา มีส่วนช่วยให้บริษัทฯ มีความยืดหยุ่นในการรองรับการปรับเปลี่ยนรสนิยมในการบริโภคของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ หรือสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา
อัตราส่วนทางการเงินที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่า Thaibev จะรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับต่ำ โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) อยู่ในระดับ 1.0-2.0 เท่า ในปีงบการเงิน 2560 – 2561 (ภายใต้สมมติฐานว่าไม่มีการเข้าซื้อกิจการใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าว) กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มั่นคงของ ThaiBev และอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้บริษัทฯ มีความยืดหยุ่นทางการเงินที่ค่อนข้างสูงในการใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมเพื่อการขยายธุรกิจ โดยไม่กระทบกับอันดับเครดิตในช่วงสองปีข้างหน้า
การกระจุกตัวของแหล่งที่มาของรายได้จากตลาดเดียว อันดับเครดิตของ Thaibev ถูกจำกัดด้วยการกระจุกตัวของแหล่งที่มาของรายได้จากประเทศไทยเป็นหลัก โดยร้อยละ 96 ของรายได้ของบริษัทฯ ในปี 2559 มาจากการจำหน่ายภายในประเทศ ThaiBev ต้องเผชิญความเสี่ยงทางด้านการเมืองและกฎเกณฑ์ข้อบังคับของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจำหน่ายสินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทฯ มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีและกฎเกณฑ์การควบคุมอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทฯ สามารถบริหารความเสี่ยงดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยกระแสเงินสดของบริษัทฯ ที่ผ่านมาไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากความไม่สงบทางการเมืองหรือการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิต
อันดับเครดิตของ ThaiBev สะท้อนถึงสถานะในการแข่งขันที่มีลักษณะเฉพาะ โดยมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่สูงมากเป็นพิเศษ มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในธุรกิจสุราในประเทศที่มั่นคง และมีอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำ จุดแข็งเหล่านี้สามารถช่วยชดเชยข้อจำกัดในด้านการกระจุกตัวของรายได้และสินค้าจากภายในประเทศเป็นหลัก เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตที่ ‘BBB’ ซึ่งโดยทั่วไปผู้ผลิตเหล่านี้จะมีการกระจายตัวของแหล่งรายได้ในหลากหลายประเทศ และมีแบรนด์สินค้าที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
ดังนั้น สถานะในการแข่งขันที่มีลักษณะเฉพาะและการมีอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำของ ThaiBev จึงสามารถชดเชยข้อจำกัดด้านขนาดและการกระจุกตัวของรายได้เพียงในประเทศ ทำให้ ThaiBev มีอันดับเครดิตที่เท่ากับ Anheuser Busch InBev NV/SA (อันดับเครดิต BBB แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และ Carlsberg Breweries A/S (อันดับเครดิต BBB แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และมีอันดับเครดิตที่สูงกว่า Pernod Ricard S.A. (อันดับเครดิต BBB- แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) เมื่อเปรียบเทียบกับ Becle, S.A. de C.V. (อันดับเครดิต BBB+ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) Becle มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า ThaiBev แต่มีอันดับเครดิตที่สูงกว่า เนื่องจาก Becle มี กระจายตัวของรายได้ที่ดีจากการจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทเตกีล่าในตลาดทั่วโลก และมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งกว่า
สำหรับสมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ ประกอบด้วย รายได้ลดลงในปีงบการเงิน 2560 เนื่องจากระยะเวลาไว้ทุกข์ในประเทศไทย และเติบโตในอัตราร้อยละ 5 ในปีงบการเงิน 2561, EBITDA margin (โดยเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต) ในปีงบการเงิน 2561-2563 ยังคงอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 54-55 สำหรับธุรกิจสุรา; ร้อยละ 20-23 สำหรับธุรกิจเบียร์; ร้อยละ 9-10 สำหรับธุรกิจอาหาร ในขณะที่ EBITDA margin สำหรับธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ยังคงอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงศูนย์,
ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน 4-5 พันล้านบาทต่อปี ในปีงบการเงิน 2561-2563 (ภายใต้สมมติฐานว่าไม่มีการเข้าซื้อกิจการใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าว) และอัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) อยู่ที่ระดับร้อยละ 60 - 65
ขณะที่ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต โดยปัจจัยบวกฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้านี้ เนื่องจากความกระจุกตัวของแหล่งที่มาของกระแสเงินสดที่มาจากประเทศไทยเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว การกระจายตัวของแหล่งที่มาของรายได้จากต่างประเทศที่มากขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในประเทศ หรือไม่ทำให้ฐานะทางการเงินอ่อนแอลง อาจส่งผลในทางบวกต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) อยู่ในระดับสูงกว่า 2.0 เท่า อย่างต่อเนื่อง (อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 1.6 เท่า ในช่วง 12 เดือนย้อนหลังนับจากสิ้นเดือนกันยายน 2559), EBITDA margin สำหรับธุรกิจสุราลดลงต่ำกว่าร้อยละ 50 ของรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต, อัตราส่วนกระแสเงินสดสุทธิต่อรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต (Free Cash Flow Margin) ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 3.5 อย่างต่อเนื่อง (อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับร้อยละ 10.6 ในช่วง 12 เดือนย้อนหลังนับจากสิ้นเดือนกันยายน 2559), การขยายการลงทุนใหม่อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลให้สถานะทางการเงินของบริษัทฯ อ่อนแอลง
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้: ThaiBev มีหนี้ที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้านับจากสิ้นเดือนมีนาคม 2560จำนวน 2.6 หมื่นล้านบาท โดยสภาพคล่องของ ThaiBev ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากเงินสดในมือจำนวน 2.5 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 กระแสเงินสดสุทธิประมาณ 7-8 พันล้านบาทต่อปี และวงเงินสินเชื่อแบบ committed ที่ยังไม่ได้เบิกใช้ จำนวน 4.6 พันล้านบาท โดยอีกส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจาก วงเงินสินเชื่อแบบ uncommitted ที่ได้รับจากสถาบันการเงิน จำนวน 5.8 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ThaiBev ยังมีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำจากธนาคาร เนื่องจาก บริษัทฯ มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการเงินในประเทศ