นายขจรพงศ์ คำดี ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) เปิดเผยว่า บริษัทตัดสินใจฟ้องร้องดำเนินคดีข้อหาละเมิดต่อธนาคารธนชาต เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากธนาคารธนชาตได้นำข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินของบริษัทไปเปิดเผยต่อธนาคารกรุงไทย (KTB) จนเป็นเหตุให้ KTB ยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขออายัดเงินของ EARTH ที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของธนาคารธนชาต
ทั้งนี้ เงินฝากดังกล่าวเป็นเงินที่บริษัทเตรียมจะโอนไปยังประเทศจีนเพื่อใช้สำหรับดำเนินธุรกิจซื้อขายถ่านหินให้กับคู่ค้าในจีนและขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารแห่งชาติของจีนแล้วเช่นกัน
"ความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินคือเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง การกระทำของธนาคารธนชาตครั้งนี้เรียกได้ว่าไม่มีจรรยาบรรณ เพราะไม่ยอมเก็บรักษาความลับของลูกค้า"นายขจรพงศ์ ระบุ
นายขจรพงศ์ ระบุว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อบริษัทนำเงินไปชำระหนี้ตั๋ว B/E ราว 4 พันล้านบาท จึงทำให้ขาดสภาพคล่องจนผิดนัดชำระหนี้เงินกู้กับทาง KTB เพื่อรักษาสภาพคล่องส่วนที่เหลือในการทำธุรกิจ แต่ผู้บริหารของธนาคารธนชาตที่มีความสนิทสนมกับผู้บริหารของ KTB ได้นำข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินของบริษัทที่เตรียมจะโอนเงินในบัญชีเงินฝากไปให้คู่ค้าในประเทศจีนมูลค่าราว 400 ล้านบาท ส่งผลให้ทาง KTB ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ส่วนใหญ่ของ EARTH ทำการอายัดบัญชีเงินฝากในธนาคารธนชาตมูลค่าราว 800 ล้านบาท และระงับวงเงินกู้ทั้งหมดของบริษัทฯ ทำให้บริษัทฯขาดสภาพคล่อง และไม่สามารถดำเนินกิจการได้
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทฯไม่ได้มีแนวทางในการฟ้องร้องดำเนินคดีกับ KTB แต่จะเจรจาเพื่อที่จะหาทางออกในการแก้ปัญหาหนี้ร่วมกันมากกว่า เนื่องจากที่ผ่านมาทาง KTB เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนที่ดีตลอดมา ส่วนกรณีที่มีการกล่าวหาว่า EARTH นำเงินกู้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่นั้น คงต้องสอบถามกับทาง KTB เอง แต่บริษัทฯยืนยันว่าไม่ได้ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์แต่อย่างใด
"เรามีการผิดชำระหนี้กับทางธนาคารกรุงไทย ช่วงนั้นเรามีปัญหาสภาพคล่อง แล้วธุรกิจซื้อมาขายไปต้องใช้เงินหมุนเวียน ซึ่งหากเอาไปชำระหนี้ เงินมันก็ต่อยอดเพื่อสร้างกำไรไม่ได้ ซึ่งปกติเราคืนเงินแบงก์เราก็มักจะเอากำไรไปคืนอยู่แล้ว และในช่วงที่ผ่านมาในตลาดตั๋ว B/E เกิดปัญหาจึงทำให้เราต้องคืนหนี้ตั๋ว B/E ไปราว 4,000 ล้านบาท แต่ด้วยเราต้องดำเนินกิจการต่อเราจึงต้องการที่จะโอนเงินไปให้กับทางประเทศจีนเพื่อที่จะทำธุรกิจต่อ แต่ทางธนาคารธนชาตดันไปบอกกับธนาคารกรุงไทยซึ่งเป็นความลับทางการค้าทำให้บริษัทฯเสียหายบริษัทฯจึงต้องดำเนินการฟ้องร้องธนาคารธนชาตเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายทั้งหมด"นายขจรพงศ์ กล่าว
นายขจรพงศ์ กล่าวว่า การกระทำของธนาคารธนชาตส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจในประเทศจีน ซึ่งเป็นความหวังที่เหลืออยู่ในการที่จะฟื้นกิจการและธุรกิจให้กลับมายืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง ซึ่งทำให้มีสภาพคล่องหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ มีศักยภาพในการทำกำไรและชำระหนี้ในอนาคตได้ แต่ภายหลังจาการอายัดในบัญชีเท่ากับเป็นการตัดเส้นทางทำมาหากินของบริษัท เพราะทำให้ไม่มีเงินมาใช้จ่ายหรือทำธุรกรรมใดได้เลย แม้แต่การจ่ายเงินเดือนพนักงาน นอกจากนี้ ผู้บริหารของบริษัทมีสิทธิจะถูกดำเนินคดีอาญา เนื่องจากได้มีการเซ็นเช็คไปแล้วจ่ายให้กับกรมสรรพากร จ่ายค่าระวางเรือ เป็นต้น เช็คที่จ่ายออกไปเด้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา
"ถือว่า EARTH เดินมาถึงทางตันแล้วจริงๆ ไม่สามารถดำเนินธุรกรรมใดได้เลย...หากว่าผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้รายใดอยากจะฟ้องร่วมธนาคารธนชาต บริษัทพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานและดำเนินการให้"นายขจรพงศ์ ระบุ
พร้อมกันนั้น นายขจรพงศ์ ยังชี้แจงประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับปัญหาของ EARTH โดยยืนยันว่า ไม่มีผู้บริหารรายใดล้มบนฟูก แต่เหตุที่เดินมาถึงทางตันเพราะปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากถูกระงับวงเงินแบบทันทีทันใด ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และสุดท้ายอันดับเครดิตขง EARTH ร่วงลงสู่ระดับ D ทันทีทำให้บริษัทไม่มีช่องทางในการหาเงินเพื่อมาชำระหนี้ที่เหลือ
"ขอยืนยันว่า EARTH ไม่ได้ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ โดยเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้รับมาจากสถาบันการเงินนำไปลงทุนทำธุรกิจถ่านหินอย่างเดียวเท่านั้น ไม่เคยเอาไปใช้เพื่อการลงทุนในรูปแบบอื่นใดเลย"นายขจรพงศ์ กล่าวถึงกระแสข่าวที่ระบุว่ามีการนำเงินไปใช้ซื้อกิจการอื่น ๆ นอกเหนือจากธุรกิจหลักของบริษัท เช่น ธุรกิจโรงพยาบาล
ส่วนประเด็นการขอมาร์จิ้นเพื่อนำมาซื้อหุ้น EARTH นั้น มีเป้าหมายเพื่อจะดำรงสถานะการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ เอาไว้ เพื่อให้การบริหารกิจการเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ โดยท้าให้ไปค้นข้อมูลย้อนหลังว่าผู้บริหารของ EARTH ไม่มีพฤติกรรมการเล่นหุ้นแบบเทรดดิ้งหรือเก็งกำไร แต่ราคาหุ้นที่รูดลงอย่างรุนแรงในช่วงเดือน พ.ค.เป็นเหตุให้ผู้บริหารโดนฟอร์ซเซลส่งผลให้ต้องตกเป็นลูกหนี้ของโบรกเกอร์คิดเป็นมูลค่ากว่าร้อยล้านบาท และขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอผ่อนชำระหนี้
และที่สำคัญผู้บริหาร EARTH ได้เสียสละนำหุ้นส่วนตัวไปเป็นหลักประกันให้แก่บริษัทและค้ำประกันส่วนตัวเต็มวงเงินให้กับสถาบันการเงิน เมื่อหุ้นราคาตก ผู้บริหารมีหน้าที่ต้องจัดหาหุ้นมาเพิ่มเติมให้กับสถาบันการเงิน จึงไม่มีเหตุผลที่จะล้มบนฟูก
นายขจรพงศ์ กล่าวว่า ที่สุดแล้วคณะกรรมการบริหารบริษัทได้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้ เพราะหลังจากถูกระงับสินเชื่อทั้งหมด ทำให้การประกอบธุรกิจของบริษัทชะลอตัวอย่างมาก ที่ผ่านมาบริษัทได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้หลายราย และได้รับแจ้งจากคู่ค้าว่าได้ยื่นฟ้องต่อศาลเป็นยอดหนี้รวมกว่า 26,000 ล้านบาท โดยในวันที่ 18 ก.ย.นี้ จะเข้าให้การต่อศาลถึงข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อขอเข้ากระบวนการฟื้นฟูฯ ต่อไป
"การเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการก็เพื่อที่จะยุติความขัดแย้งกับเจ้าหนี้ เพื่อที่จะเจรจากับเจ้าหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมดราว 2,800 ราย ให้เข้าใจถึงสาเหตุต่างๆ และแก้ปัญหาหนี้ต่างๆเพื่อที่จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้"นายขจรพงศ์ กล่าว
สำหรับหนี้ 26,000 ล้านบาท เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ในเดือน ก.ค.60 ซึ่งมาจากการที่คู่ค้าในจีนเรียกร้องค่าเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากบริษัทไม่สามารถโอนเงินมูลค่า 400 ล้านบาทไปให้ได้ ทำให้การดำเนินธุรกิจติดขัด ซึ่งหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่ปรากฎในงบเฉพาะกิจการของ EARTH ในไตรมาส 1/60 แต่จัดไว้เป็นประมาณการหนี้สินที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะที่หนี้ในบัญชีสิ้นสุดไตรมาส 1/60 อยู่ที่ 21,480 ล้านบาท เมื่อนำยอดหนี้ทั้งสองรวมกันจะเท่ากับ 47,480.01 ล้านบาท
นายขจรพงศ์ กล่าวว่า เรื่องการส่งงบไตรมาส 2/60 นั้นยังไม่สามารถให้คำตอบได้เนื่องจากยังไม่ได้มีการพูดคุยกับฝ่ายบัญชี ส่วนการจัดทำรายงาน Special Audit ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งนั้นบริษัทได้พยายามดำเนินการแล้ว แต่ไม่มีใครรับทำ ดังนั้น คงต้องไปเจรจาปัญหานี้กับ ก.ล.ต.ต่อไป
"ถ้าหากสามารถทำให้ธุรกิจของ EARTH กลับไปเดินหน้า และเติบโตได้เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาผมก็พร้อมที่จะลาออกหากเป็นความต้องการผู้เข้าร่วมทำแผนฟื้นฟู"นายขจรพงศ์ กล่าว