นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เชื่อมั่นว่ากำไรสุทธิในปี 61 จะดีที่สุดตั้งแต่ดำเนินการมา หลังจะรับรู้ผลบวกเต็มที่จากโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ (UHV) ของโรงกลั่น และการขยายกำลังการผลิตโพลีโพรพิลีน (PP) ที่จะแล้วเสร็จในสิ้นปีนี้ รวมถึงโครงการ EVEREST เพื่อเพิ่มขีดความสามารถองค์กรในทุกด้านนั้นจะปิดโครงการในสิ้นปีนี้นั้น คาดสร้าง EBIT ระดับ 1 หมื่นล้านบาทเต็มที่ในปีหน้า
ส่วนกำไรปีนี้ยังต้องลุ้นว่าจะทำนิวไฮได้ต่อเนื่องหรือไม่ โดยโครงการ UHV ยังสร้างมาร์จิ้นไม่ได้ตามเป้าหมาย และการขยายกำลังผลิต PP ล่าช้าเล็กน้อย รวมถึงมีการปิดซ่อมบำรุงโรงงานครั้งใหญ่ในรอบ 5 ปีช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ด้วย
ขณะที่เตรียมนำเสนอแผนลงทุนโครงการ BEYOND EVEREST มูลค่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นน้ำมันมาต่อยอดผลิตสารโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี หากคณะกรรมการอนุมัติแผนในไตรมาส 3/60 พร้อมเดินหน้าก่อสร้างแล้วเสร็จใน 4-5 ปี หวังผลักดันกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มตามราคาตลาด (Market GIM) ไม่รวมผลกระทบจากสต็อก ให้ยืนเหนือระดับ 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากช่วงครึ่งแรกปีนี้อยู่ที่ 14.33 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
"ผมยังเชื่อว่ากำไรปีหน้าจะเป็นปีที่ดีที่สุด ปี 2015-2016 เราก็ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นระดับนิวไฮ ปี 2017 จะรักษาระดับได้หรือไม่ ยังไม่แน่ใจเพราะมี shutdown ช่วงไตรมาสแรก หยุดไป 1 เดือน UHV หยุด 2 เดือน ก็เกิดความไม่แน่ใจขึ้น ถ้าโครงการต่าง ๆ ได้ตามแผน ก็จะทำได้ตามแผนว่ากำไรมากกว่าปีที่แล้ว...เรามีเป้าแต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ขึ้นกับว่าเป็นไปตามคาดหรือเปล่า เพราะมี factor ใหญ่ 2 ตัว Market GIM และ ราคาน้ำมันดิบ เรามีช่วง shutdown ในไตรมาส 1 ด้วย และ UHV ก็ไม่ได้ตามแผน แต่ก็ compensate ด้วยโครงการ EVEREST"นายสุกฤตย์ กล่าว
เมื่อปีที่แล้ว IRPC มีกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 9.72 พันล้านบาท ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกปีนี้ทำกำไรสุทธิได้ 3.59 พันล้านบาท หลังหยุดซ่อมบำรุงโรงงานในไตรมาสแรก ขณะที่ไตรมาส 2 ได้รับผลกระทบจากขาดทุนสต็อกน้ำมันหลังจากราคาน้ำมันดิบปรับลดลงในช่วงท้ายไตรมาส
นายสุกฤตย์ คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะไม่ได้รับผลกระทบจากสต็อกน้ำมันอีกแล้ว หลังจากคาดว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวระดับ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ใกล้เคียงกับช่วงสิ้นไตรมาส 2/60 ดังนั้น ผลกำไรสุทธิจะมาจากการดำเนินงานเป็นหลัก โดย Market GIM น่าดีกว่าระดับ 14.33 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในช่วงครึ่งปีแรก จากความต้องการใช้น้ำมันและปิโตรเคมีในภูมิภาคที่สูงขึ้น ขณะที่โรงกลั่นบางแห่งมีปัญหาทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันโดยรวมลดลง นอกจากนี้โรงไฟฟ้าไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ (IRPC-CP) ระยะที่ 2 ขนาด 240 เมกะวัตต์ ซึ่งถือหุ้นอยู่ 49% จะแล้วเสร็จในเดือนต.ค. จะสร้างกำไรได้ราว 300 ล้านบาท/ปี คิดเป็นมาร์จิ้นราว 15 เซนต์/บาร์เรล
นอกจากนี้ การขยายกำลังการผลิต PP อีก 3 แสนตัน/ปี โดยเป็นการขยายกำลังการผลิต PP จากโรงงานเดิม (PPE) อีก 1.6 แสนตัน/ปี และการผลิต PP Compound (PPC) 1.4 แสนตัน/ปี จะแล้วเสร็จในปลายไตรมาส 3/60 ล่าช้าจากเดิมที่คาดจะแล้วเสร็จในสิ้นไตรมาส 2/60 นั้น จะช่วยสร้างมาร์จิ้นเพิ่มขึ้นอีก 1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งจะเริ่มรับรู้ในไตรมาส 4/60 และทำให้มีกำลังผลิต PP เพิ่มเป็น 7.75 แสนตัน/ปี จากปัจจุบันที่มีอยู่ 4.75 แสนตัน/ปี
รวมถึงบริษัทยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงการ UHV เพื่อให้สามารถดำเนินการได้เต็มประสิทธิภาพ หลังจากที่เปิดการผลิตมาตั้งแต่เดือนก.ค.59 แต่ปัจจุบันยังสร้างมาร์จิ้นไม่ได้ตามเป้าหมายที่ 1.5-2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยทำได้เพียง 1.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งครอบคลุมเพียงแค่ค่าเสื่อมและการชำระดอกเบี้ยเท่านั้น
ทั้งนี้ การปรับปรุงโครงการ UHV ล่าสุดดำเนินการใน 2 ส่วน ได้แก่ การปรับเปลี่ยนสูตรของสารเร่งปฏิกริยา (catalyst) เพื่อให้สามารถผลิตโพรพิลีนได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันที่ได้ yield ของโพรพิลีนเพียง 18% หรือผลิตได้เพียง 2.5 แสนตัน/ปี จากแผนจะต้องได้ yield ระดับ 22% หรือผลิตโพรพิลีนได้ 3.2 แสนตัน/ปี ทำให้มาร์จิ้นหายไปประมาณ 30 เซนต์/บาร์เรล หรือราว 600 ล้านบาท/ปี ซึ่งการลงทุนส่วนนี้จะใช้เงินไม่มากนักและจะแล้วเสร็จในสิ้นปีนี้
สำหรับอีกส่วนหนึ่งจะเป็นการติดตั้ง Catalysis Coolers เพื่อให้สามารถใช้น้ำมันดิบที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะมีราคาถูกกว่าน้ำมันดิบเบา (Light Crude) โดยในส่วนนี้จะต้องลงทุนเพิ่มราว 1.39 พันล้านบาท การดำเนินการจะแล้วเสร็จในสิ้นปี 61 และจะทำให้ได้มาร์จิ้นเพิ่มขึ้นราว 30 เซนต์/บาร์เรล หรือราว 600 ล้านบาท/ปี โดยการปรับปรุงทั้ง 2 ส่วนนี้จะทำให้โครงการ UHV กลับมาผลิตได้ตามแผนที่ออกแบบไว้ว่าจะสร้างมาร์จิ้นได้ 1.5-2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้สร้างมูลค่าเพิ่มของโครงการ UHV อีก 1 ส่วน ด้วยการติดตั้งหอกลั่น Max Gasoline Mode ด้วยเงินลงทุนราว 1.1 พันล้านบาท เพื่อปรับปรุงน้ำมันเบนซินที่ยังมีส่วนประกอบที่หลากหลาย (gasoline components) ที่เดิมจะต้องส่งออกนั้น จะนำบางส่วนมาแยกสารบางประเภทออกเพื่อให้สามารถนำน้ำมันเบนซินกลับมาขายในประเทศเพิ่มขึ้น รองรับการใช้เบนซินที่เติบโตมากกว่า 10% ต่อปีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยการลงทุนส่วนนี้จะทำให้ผลิตน้ำมันเบนซินขายในประเทศได้อีก 25 ล้านลิตร/เดือน ช่วยเพิ่มมาร์จิ้นได้ 40 เซนต์/บาร์เรล โดยโครงการนี้จะแล้วเสร็จในเดือนพ.ย.นี้ และจะเป็นส่วนเพิ่มจากมาร์จิ้นของโครงการ UHV ดังกล่าว
นายสุกฤตย์ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการ EVERST นั้นจะสิ้นสุดโครงการในสิ้นปีนี้ และยังเชื่อมั่นว่าจะสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย และภาษี (EBIT) ได้ตามเป้าปีนี้ที่ 7 พันล้านบาท แม้ว่าในครึ่งปีแรกจะทำได้เพียง 2.35 พันล้านบาท เนื่องจากหลายโครงการลงทุนจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี ขณะที่จะได้รับ EBIT สูงสุดตามเป้า 1 หมื่นล้านบาทในปีหน้า
หลังจากการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งโครงการ UHV และการขยาย PP แล้วเสร็จ บริษัทก็อยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนโครงการ BEYOND EVEREST มูลค่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นน้ำมันมาต่อยอดผลิตสารโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาโครงการจะแล้วเสร็จและเตรียมเสนอคณะกรรมการบริษัทในไตรมาส 3/60 หากได้รับการอนุมัติก็คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จใน 4-5 ปี ซึ่งจะช่วยทำให้ Market GIM ยืนเหนือระดับ 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลได้
สำหรับ BEYOND EVEREST แบ่งการลงทุนเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการขยายกำลังการผลิตโอเลฟินส์ ทั้งเอทิลีน และโพรพิลีน เพิ่มขึ้นอีก 50% หรือราว 3 แสนตัน/ปีจากระดับการผลิตในปัจจุบัน และส่วนที่สองเป็นการนำ gasoline components ที่ปัจจุบันมีการส่งออกนั้นมาผลิตเป็นสารอะโรเมติกส์ได้ราว 1.1 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตปิโตรเคมีเพิ่มอีก 1.4 ล้านตัน/ปี หรือสามารถเพิ่ม yield ปิโตรเคมีจากโรงกลั่นได้เป็น 29% จากปัจจุบันที่ทำได้เพียง 15% นับว่าเป็นโรงกลั่นน้ำมันที่สามารถผลิตปิโตรเคมีได้มากที่สุด
"โรงกลั่นธรรมดาจะทำปิโตรเคมีได้แค่ 10-15% หลังโครงการนี้เสร็จกำลังการกลั่นเราไม่เปลี่ยนอยู่ที่ 2.15 แสนบาร์เรล/วัน แต่เราเพิ่มปิโตรเคมีแทน เพราะเราเห็นว่าในอนาคตรถยนต์ไฟฟ้าจะมาเร็วกว่าที่คิด ทุกคนก็คาดหวังว่าจุดแรกที่รถยนต์ไฟฟ้าจะมาแทนคือน้ำมันเบนซิน เราก็วางแผนที่จะเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่เดิมจะผลิตเป็นน้ำมันเบนซิน มาเป็นปิโตรเคมีให้หมด เรา move ไปก่อน คือลดการผลิตน้ำมันเบนซินแล้วไปทำปิโตรเคมีแทน ซึ่งจะเพิ่ม yield ได้เกือบเท่าตัว"นายสุกฤตย์ กล่าว
นายสุกฤตย์ กล่าวว่า การลงทุน BEYOND EVEREST จะเป็นส่วนหนึ่งของแผนลงทุน 5 ปี (ปี 61-65) ที่จะเสนอแผนลงทุนต่อกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) นอกเหนือจากงบซ่อมบำรุงประจำปีราว 2 พันล้านบาท/ปีด้วย โดยเงินลงทุนโครงการจะมาจากเงินกู้และส่วนทุน ซึ่งส่วนของทุนจะมาจากผลการดำเนินงานของบริษัทที่ดีขึ้น โดยไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน
อย่างไรก็ตาม การลงทุนจำนวนมากของโครงการ BEYOND EVEREST น่าเกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่ปี 62 ดังนั้น ในช่วงหลังจากนี้ที่บริษัทยังไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ และภาระหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ยังอยู่ในระดับ 0.84 เท่า ซึ่งไม่สูงมากนักและเป็นระดับที่ยังรักษาอันดับเครดิตได้อยู่นั้น บริษัทก็จะเน้นไปในเรื่องการจ่ายเงินปันผลคืนให้กับผู้ถือหุ้นเป็นหลัก แต่ยังต้องติดตามเรื่องการลดระยะเวลาจ่ายค่าน้ำมันดิบกับ ปตท.หรือ credit term จากปัจจุบันที่มีอยู่ 60 วัน โดยเป้าหมายจะลดเหลือ 30 วันในปีหน้า ซึ่งหากลดลงไปก็จะทำให้มีหนี้การค้าเพื่อจ่ายค่าน้ำมันกลับเข้ามาเป็นหนี้ปกติราว 1 หมื่นล้านบาท/ปี อาจจะทำให้ D/E สูงขึ้นจากเดิมใกล้ระดับ 1 เท่า ก็อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการจ่ายปันผลที่มากขึ้นด้วย