(เพิ่มเติม) LPN เผย Backlog สิ้น มิ.ย.กว่า 7 พันลบ.เล็งเปิด 5 โครงการใหม่ครึ่งปีหลัง รวม 1.16 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 10, 2017 13:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งปีหลังของปี 60 บริษัทมีโครงการที่จะแล้วเสร็จพร้อมส่งมอบอีก 5 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 3,870 ล้านบาท และมีแผนเปิดตัวเพิ่มอีก 5 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 11,650 ล้านบาท ทั้งนี้ ณ 30 มิ.ย.60 บริษัทมี Backlog รวม 7,074 ล้านบาท แยกเป็นปี 60 จำนวน 2,862 ล้านบาท ปี 61 จำนวน 4,010 ล้านบาท และปี 62 จำนวน 202 ล้านบาท รวมทั้งของบริษัทย่อยอีก 356 ล้านบาท

LPN รายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/60 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้หลักรวม 2,038.31 ล้านบาท ลดลง 3,124.52 ล้านบาท จากไตรมาส 2/59 หรือลดลง 60.52% โดยรายได้หลักมาจากรายได้จากการขายกว่า 90% ของรายได้หลักรวม ซึ่งลดลงจาก 4,980.73 ล้านบาท ในปี 59 เป็น 1,817.28 ล้านบาท ในปี 60 หรือลดลง 63.51%

ในไตรมาส 2/60 บริษัทมีโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเพียง 1 โครงการ ได้แก่ ลุมพินี วิลล์ ราชพฤกษ์-บางแวก มูลค่าโครงการ 1,300 ล้านบาท แต่ยังคงรักษาระดับกำไรขั้นต้นไว้ 30% ของรายได้

บริษัทได้มีการเปิดตัว 3 โครงการใหม่ในไตรมาส 2/60 ได้แก่ 1) ลุมพินี พาร์คบีช ชะอา 2 2) ลุมพินี สวีท ดินแดง-ราชปรารภ และ 3) เดอะ ซีเล็คเต็ด เกษตร-งามวงศ์วาน บาย แอล.พี.เอ็น. มูลค่ารวมประมาณ 3,150 ล้านบาท ทำให้ครึ่งปีแรกของปี 60 บริษัทได้เปิดตัวขายไปแล้วทั้งหมด 7 โครงการ มูลค่ารวมทั้งหมดประมาณ 8,350 ล้านบาท โดยมียอดขายที่ทำได้แล้ว 9,400 ล้านบาท

LPN ระบุว่า เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมทั้งภายนอกและภายในประเทศยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ไม่ว่าจะเป็นหนี้ภาคครัวเรือน ความเข้มงวดของสถาบันการเงิน ซึ่งมีผลต่อการปฏิเสธสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นอุปสรรคปัญหาต่อนโยบายและกลยุทธ์ของบริษัทในช่วงที่ผ่านมาที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่จากการได้เปรียบด้านต้นทุน และมุ่งเน้นเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้ในระดับกลางถึงกลาง-ล่างเป็นหลัก โดยกระจายทำเลในการพัฒนาอยู่ในบริเวณชานเมืองรอบกรุงเทพมหานคร และยังคงรักษาระดับของราคาขายเฉลี่ยต่อยูนิตประมาณ 1 ล้านบาท ตามกลยุทธ์ Affordable House โดยมุ่งหวังที่จะส่งมอบบ้านที่มีคุณภาพให้กับผู้มีรายได้ไม่สูง

จากปัญหาข้างต้นส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทเข้าสู่ภาวะถดถอย มีสินค้าขายได้ แต่โอนไม่ได้เป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้บริษัทจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในการดาเนินงานใหม่ โดยกำหนดปี 60 เป็น “ปีแห่งการปรับเปลี่ยน" (Year of Shift) ภายใต้สภาวะถดถอยขององค์กร บุคลากรของทั้งองค์กรตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงพนักงานทั่วไปถือเป็นโอกาสในการปรับรูปแบบธุรกิจ (Business Model) เพื่อเปลี่ยนไปสู่มิติใหม่ขององค์กรที่จะสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง และมุ่งสู่เป้าหมายใหม่เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ