นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) กล่าวว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/60 บริษัทมีรายได้รวมที่ 2,001 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 266 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 540% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและนับเป็นกำไรที่สูงสุดในประวัติการณ์ ส่งผลให้งวด 6 เดือนแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 663.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 301.17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นอยู่ที่ 28% จากระดับ 20% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
เนื่องจากบริษัทสามารถทำสัญญาขายน้ำตาลล่วงหน้าในปีนี้สูงเฉลี่ยที่ 22 เซ็นต์/ปอนด์ นับว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างน่าพอใจเมื่อเทียบกับปัจจุบันที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 14-16 เซนต์/ปอนด์ ส่วนราคาเฉลี่ยปี 59 อยู่ที่ประมาณ 16 เซนต์/ปอนด์ รวมถึงผลผลิตอ้อยก็เพิ่มจาก 2.06 ล้านตัน เป็น 2.21 ล้านตัน จากความสามารถในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่และค่าความหวาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิผลการผลิต การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรนักธุรกิจชาวไร่อ้อยตามปรัชญา “น้ำตาลสร้างในไร่"
สำหรับปีการผลิต 60/61 ที่จะถึงนี้ จากการสำรวจพื้นที่เพาะปลูกอ้อยทั้งหมดราว 240,000 ไร่ บริษัทค่อนข้างมั่นใจว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบจะแตะระดับ 2.8 ล้านตัน ทำให้จะมีผลผลิตน้ำตาลทรายราว 320,000 ตัน เทียบกับปีก่อนที่ปริมาณ 251,696 ตัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 21%
นอกจากนี้ ธุรกิจโรงไฟฟ้า 2 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) และบริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) ซึ่งเพิ่งจัดตั้งเป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานน้ำตาลกลุ่มบุรีรัมย์ (BRRGIF) ยังสามารถเดินเครื่องได้เต็ม 100% บนกำลังการผลิตรวม 19.8 เมกะวัตต์ (MW) ในไตรมาส 2 นี้ ส่งผลให้บริษัทมีรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าจำนวน 81.6 ล้านบาท
“แม้ว่า บริษัทจะจัดตั้ง BRRGIF ด้วยการขายสิทธิรายได้รายได้สุทธิจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าทั้ง 2 ไป ในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งทำให้บริษัทได้รับกระแสเงินสดจากการระดมทุนทันทีราว 3,600 ล้านบาท แต่ตามหลักการบันทึกการรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าทั้ง 2 จะยังทยอยรับรู้ต่อเนื่อง ไม่หายไปจากงบการเงิน"นายอนันต์ กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทจะนำเม็ดเงินจากการระดมทุนของ BRRGIF ลงทุนขยายธุรกิจที่เพิ่มมูลค่าให้กับบริษัท โดยในปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษา ทั้งในด้านการสร้างโรงงานแปรรูปเพิ่มมูลค่าน้ำตาลทราย โรงงานผลิตเอทานอล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ขณะที่ล่าสุดบริษัทก็จะยื่นเสนอขอใบอนุญาตขายไฟฟ้า 3 โครงการโรงไฟฟ้า บนพื้นที่ จังหวัดบุรีรัมย์ และสุรินทร์ จำนวนรวม 60 เมกะวัตต์ ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)