บมจ.การบินไทย (THAI) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2/60 ขาดทุนจากการดำเนินงานธุรกิจการบิน (Operating Loss) จำนวน 1,542 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากค่าน้ำมันเครื่องบินที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่สูงกว่าปีก่อน 20.1% ประกอบกับรายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วยต่ำกว่าปีก่อน 10.9% จากการแข่งขันที่รุนแรงและการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมัน (Fuel Surcharge) ถึงแม้ว่าจะมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารสูงสุดในรอบ 10 ปีก็ตาม
ทั้งนี้ เมื่อหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ผลขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงส่วนได้เสียในเงินลงทุนใน บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) การด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแล้ว ทำให้บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 5,208 ล้านบาท
นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2/ บริษัทได้ดำเนินการตามแผนปฏิรูปองค์กรระยะที่ 3 “การเติบโตอย่างยั่งยืน" ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ทำให้ไตรมาสนี้ซึ่งปกติเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว บริษัทมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนถึง 21.9% โดยมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 7.1% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 78.5% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเท่ากับ 69.0% ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี
บริษัทมีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ในการดำเนินงาน 97 ลำ เพิ่มขึ้น 2 ลำ เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 59 จากการรับมอบเครื่องบินเช่าการเงินแบบแอร์บัส A350-900XWB ทั้งนี้ มีการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง Aircraft Utilization เพิ่มขึ้น 4.5% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 5.87 ล้านคน สูงกว่าปีก่อน 14.9%
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในไตรมาส 2/60 บริษัทขาดทุนจากการดำเนินงานลดลงจากปีก่อน 13.5% โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 45,182 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนประมาณ 9.6% สาเหตุสำคัญเนื่องจากรายได้จากค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกินเพิ่มขึ้นจากปริมาณการขนส่งผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นถึง 21.9% ถึงแม้จะมีรายได้ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วยลดลงจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงก็ตาม
ประกอบกับรายได้จากค่าระวางขนส่งและค่าไปรษณียภัณฑ์เพิ่มขึ้นจากภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อน รวมทั้งรายได้การบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้น สาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากการซ่อมบำรุงของฝ่ายช่างเพิ่มขึ้น ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวม 46,724 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6% เนื่องจากค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 527 ล้านบาท (4.5%) จากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น 20.1% ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมค่าน้ำมันเพิ่มขึ้น 3,390 ล้านบาท (11.3%) สาเหตุหลักเกิดจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิต และปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยานเพิ่มขึ้น
บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 575 ล้านบาท และมีผลขาดทุน จากการเปลี่ยนแปลงส่วนได้เสียในเงินลงทุนจำนวน 428 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการลดสัดส่วนการถือหุ้นใน NOK และรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน จำนวน 390 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 2,431 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อย มีขาดทุนสุทธิ 5,208 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 5,211 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 2.39 บาท ขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 1.05 บาท (78.4%)
ณ วันที่ 30 มิ.ย.60 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 291,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2559 จำนวน 8,676 ล้านบาท (3.1%) หนี้สินรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อย เท่ากับ 260,239 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธ.ค.59 จำนวน 10,703 ล้านบาท (4.3%) และส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 31,561 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธ.ค.59 จำนวน 2,027 ล้านบาท (6.0%) เป็นผลมาจากผลขาดทุนจากการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในงวด 6 เดือนแรกของปีนี้