IRPC เล็งเพิ่มการผลิต 2 เท่าใน 5 ปีในธุรกิจโพลีออล-ผลิตเม็ดพลาสติกสำหรับอุตฯยานยนต์

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 15, 2017 07:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานใน 2 บริษัทร่วมทุน ได้แก่ IRPC A&L Company Limited ผู้ผลิตเม็ดพลาสติก ABS เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และ IRPC Polyol Company Limited ผู้ผลิตโพลียูริเทน เพื่อเพิ่มการผลิตเป็น 2 เท่าภายใน 5 ปีข้างหน้า หลังจากปัจจุบันการผลิตโพลียูริเทนยังทำได้เพียง 50% ของกำลังการผลิตเท่านั้น ส่วนการผลิตเม็ดพลาสติก ABS สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ก็มีแผนที่จะขยายตลาดเข้าไปในอาเซียนที่มีการเติบโต จากปัจจุบันที่มีเพียงการขายภายในประเทศเท่านั้น

ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัท IRPC Polyol Company Limited ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 75% และมี PCC Rokita SA (Poland) จากโปแลนด์ เข้ามาถือหุ้น 25% เมื่อปลายปีที่แล้วนั้น และมีแผนที่จะเพิ่มการถือหุ้นเป็นระดับ 50% ในอนาคตหลังจากจะร่วมกันทำตลาดระยะหนึ่งก่อน ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพการแข็งแกร่งของบริษัทร่วมทุนนี้ โดยมีแผนจะเพิ่มการผลิตเป็น 2 เท่า จากปัจจุบันที่มีการผลิตอยู่ในระดับ 50% ของกำลังการผลิต 2.5 หมื่นตัน/ปี

โดยการดึงพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนก่อนหน้านี้เพื่อนำสูตรการผลิตใหม่มาเพิ่มเติม รองรับการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลียูริเทนที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added Product) โดยมุ่งเน้นการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งธุรกิจโพลีออลจะไม่ค่อยสร้างกำไรได้มากนัก เพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบโพลีออกไซด์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต

"ตอนนี้เริ่มดีขึ้นเพราะเขาเอาสูตรใหม่มาให้เราผลิตแล้วขาย เรามีโรงงานแต่ที่ผ่านมาไม่มีกำไรเพราะขาดเทคโนโลยี ก็ต้องดึง partner เข้ามา ผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออกให้ครอบคลุมอาเซียน คงต้องทำตลาดร่วมกันระยะหนึ่งก่อนแล้วค่อยให้เขาเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 50%...เราต้อง run เต็มที่ก่อน ก็มีโอกาสที่จะขยายกำลังการผลิตได้อีก"นายสุกฤตย์ กล่าว

นายสุกฤตย์ กล่าวอีกว่า สำหรับบริษัท IRPC A&L Company Limited นั้น บริษัทถือหุ้นอยู่ 60% ร่วมกับ Nippon A&L (NAL) จากญี่ปุ่น 37% และ Sumithai อีก 3% โดยบริษัทร่วมทุนนี้ก็มีแผนที่จะขยายตลาดออกไปในอาเซียนที่อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังเติบโตมาก จากเดิมที่มีการขายเฉพาะในประเทศเท่านั้น ซึ่งแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ Nippon นำสูตรการผลิตมาให้โรงงานในไทยผลิตแล้วขายในอาเซียน ก็มีแผนที่จะเพิ่มยอดขายเป็น 2 เท่า ซึ่งเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตจาก 2 หมื่นตัน/ปี เป็น 4 หมื่นตัน/ปีภายใน 5 ปีข้างหน้า

ส่วนการบริหารจัดการที่ดินของบริษัทที่มีอยู่จำนวนกว่า 4 พันไร่ในขณะนี้นั้นยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก โดยพื้นที่ในอ.บ้านค่าย จ.ระยอง ที่มีกว่า 2 พันไร่นั้นได้เคยประกาศขายพื้นที่ไปแล้วแต่ปรากฎว่าได้รับความสนใจน้อย ทำให้ยังไม่ตัดสินใจที่จะขายในขณะนี้ และยังรอดูการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จากภาครัฐบาลด้วย ส่วนพื้นที่กว่า 2 พันไร่ ในอ.จะนะ จ.สงขลานั้น อยู่ใกล้กับพื้นที่การก่อสร้างท่าเรือสงขลา 2 ซึ่งคงต้องรอดูการพัฒนาของภาครัฐก่อนเพื่อที่จะบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าวอย่างไรต่อไป

ทั้งนี้ การขายพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้มีความเร่งรีบเพราะบริษัทยังคงมีฐานะทางการเงินที่ดี และสามารถสร้างกระแสเงินสดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ได้มีการกู้เงินได้รับวงเงินกู้ร่วมจากสถาบันการเงินเพื่อรีไฟแนนซ์เงินกู้และหุ้นกู้ ทำให้ภาระดอกเบี้ยเฉลี่ยลดลงเป็น 3.5% จากเดิมที่ 4% ซึ่งนับว่าค่อนข้างต่ำ โดยปีนี้มีภาระหนี้ที่จะคืนจำนวน 1.7 หมื่นล้านบาทมีแผนรองรับแล้ว

ส่วนในปีหน้ามีภาระหนี้ต้องคืนอีก 1 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรอาจจะเป็นการออกหุ้นกู้ หรือการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ขึ้นอยู่กับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยเป็นหลัก โดยบริษัทยังไม่ได้เร่งรีบที่จะต้องนำเงินจากการดำเนินการไปชำระหนี้ แต่จะพยายามรักษาระดับหนี้สินต่อทุน (D/E) ให้อยู่ในระดับสูงที่สุดที่จะไม่ถูกลดเครดิต ซึ่งในกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) มีเป้าหมายต่ำกว่าระดับ 1 เท่า ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมี D/E อยู่ที่ 0.84 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ