นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) คาดว่ากำไรปี 60 จะเติบโตจากปีก่อน ตามรายได้ที่ขยายตัวราว 18% จากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลง และวางเป้ากำไรปี 61 ขยายตัวก้าวกระโดดรับกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) อีก 414 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งในส่วนนี้เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) 3 โรง ขณะที่ยังมองหากำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมในอาเซียน และการวางแผนปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยหนุนผลการดำเนินงานในอนาคตเพิ่มเติมด้วย
"ปี 61 เราจะมีโรงไฟฟ้าใหญ่ ๆ เข้ามาก็จะทำให้กำลังผลิตเราเพิ่มขึ้นเยอะเลย สิ้นปีหน้าก็จะมีกำลังการผลิตที่ COD แล้ว 2,060 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มี 1,646 เมกะวัตต์ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว โดยยังไม่นับรวมโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯและสหกรณ์ ที่เราได้มาอีก 8 โครงการ รวม 35.83 เมกะวัตต์ ที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งส่วนนี้จะต้อง COD ภายในปีหน้า"นางปรียนาถ กล่าว
ปีที่แล้ว BRGIM มีกำไรสุทธิ 1.38 พันล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิปรับปรุง ซึ่งไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน อยู่ที่ 1.17 พันล้านบาท ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้บริษัทมีกำไรสุทธิ 1.1 พันล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิปรับปรุง 874 ล้านบาท ซึ่งกำไรสุทธิปรับปรุงดังกล่าวจะใช้เป็นนโยบายในการจ่ายเงินปันผล ซึ่งบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผล 40% ของกำไรสุทธิปรับปรุง
นางปรียนาถ กล่าวว่า สำหรับปีนี้คาดว่าจะมีกำไรเติบโตจากปีที่แล้ว ตามรายได้ที่ขยายตัวราว 18% จากการรับรู้รายได้เต็มปีจากการขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 5 (ABP5) และโรงไฟฟ้า บี.กริม เพาเวอร์ ดับบลิวเอชเอ 1 (BPWHA1) รวมถึงการ COD โรงไฟฟ้าใหม่ คือ โรงไฟฟ้าน้ำเซน้ำน้อย 2 และเซกะตัม 1 ในลาว กำลังผลิตรวม 20.1 เมกะวัตต์ เมื่อปลายเดือนก.ค.60
"กำไรสุทธิในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะทำได้ดีกว่าครึ่งปีแรก นอกเหนือจากการ COD โรงไฟฟ้าเพิ่มดังกล่าวแล้ว ยังจะได้รับประโยชน์จากค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ที่เพิ่มขึ้น และภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงตามแผนการลดดอกเบี้ยของบริษัท"นางปรียนาถ กล่าว
ที่ผ่านมาได้บริษัทได้ลดต้นทุนทางการเงิน ด้วยการออกหุ้นกู้โครงการโรงไฟฟ้ามูลค่า 1.15 หมื่นล้านบาท โดยเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดนั้น ได้นำไปชำระหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงินของกลุ่มบริษัทที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า และยังนำเงินจากการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ผ่านมากว่า 1.1 หมื่นล้านบาทไปชำระคืนหนี้ ทำให้หนี้สินต่อทุนลดลงมาอยู่ที่ 1.6 เท่า นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะออกหุ้นกู้โครงการราว 3-5 พันล้านบาทในปลายปีนี้ เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน ซึ่งจะทำให้เพิ่มความสามารถในการทำกำไรสุทธิในอนาคตด้วย
ส่วนในปี 61 จะมีโรงไฟฟ้าใหม่ทยอย COD เข้าระบบรวม 414 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้า SPP จำนวน 3 โรง กำลังการผลิตรวม 399 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำแจ 1 ในลาว อีก 15 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นราว 25% จากปีนี้ ก็จะทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตได้ตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งยังไม่นับรวมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ของหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ระยะ 2 ที่บริษัทได้ทั้งหมด 8 โครงการ รวม 35.83 เมกะวัตต์ ซึ่งยังไม่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โดยคาดว่าจะมีการลงนาม PPA ในปลายปีนี้ และจะต้อง COD โครงการภายในปี 61 นอกจากนี้ บริษัทยังหาโอกาสที่จะเจรจาเพื่อเข้าลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์มดังกล่าวเพิ่มเติมอีกด้วย
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะใช้เงินลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท/ปี เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าที่มีสัญญา PPA ให้สามารถ COD ได้ตามแผนงานที่ระดับ 2,431 เมกะวัตต์ในปี 65 ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนราว 25-30% จาก 10% ในปัจจุบัน ขณะที่สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ จะลดลงเหลือ 70% จาก 90% ในปัจจุบัน
นางปรียนาถ กล่าวว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้การเข้าลงทุนผลิตไฟฟ้าในอาเซียน ไม่นับรวมไทยอีก 2,500 เมกะวัตต์ คาดจะมีความชัดเจนในปีหน้า ได้แก่ โครงการโซลาร์ฟาร์มในมาเลเซีย ราว 500 เมกะวัตต์ , โครงการในกัมพูชา ที่ปัจจุบันบริษัทได้รับงานสร้างสายส่งไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่นิคมอุตสาหกรรมภายในกัมพูชา , โครงการโซลาร์รูฟท็อป ในฟิลิปปินส์ ,โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ในลาว ,โครงการโซลาร์ฟาร์มในเวียดนาม เป็นต้น
ส่วนโครงการในไทยนั้น มีแผนจะเข้าประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในรูปแบบ SPP Hybrid Firm ที่รัฐบาลจะเปิดรับซื้อจำนวน 300 เมกะวัตต์ บริษัทมีความพร้อมที่จะเข้าเสนอทั้งหมด และคาดหวังจะได้รับงานไม่ต่ำกว่า 25% ของปริมาณการรับซื้อไฟฟ้า รวมถึงสนใจจะเข้าประมูลโครงการ VSPP Semi-Firm จำนวน 269 เมกะวัตต์ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อร่วมทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ซึ่งมีสัญญา PPA อยู่แล้ว คาดว่าจะเซ็นสัญญาร่วมทุนได้ภายในปีนี้
ด้านนายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่-พัฒนาธุรกิจ ของ BGRIM กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อซื้อกิจการ (M&A) โครงการโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศราว 3-5 แห่ง คาดว่าในปี 61 จะมีความชัดเจนราว 3 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตราว 100-500 เมกะวัตต์/โครงการ ซึ่งบริษัทมีเงินทุนรองรับการเข้าทำ M&A แล้ว หลังจากได้รับเงินกู้จาก Asian Development Bank (ADB) มาแล้ววงเงิน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ อายุ 15 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.5-2% และเตรียมที่จะลงนามเงินกู้กับ ADB อีก 230 ล้านเหรียญสหรัฐในราวปลายปีนี้ คาดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4% เพื่อรองรับการลงทุนใน 3-5 ปี
นอกจากนี้ยังได้เจรจากับธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศทั้งธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เพื่อเจรจากู้เงินเพิ่มเติม หลังจากล่าสุดได้รับอนุมัติแล้วกว่า 1 พันล้านบาท แต่บริษัทขอเพิ่มอีก 1-2 พันล้านบาท เพื่อรองรับการหากำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 เมกะวัตต์ภายในปี 65 จากปัจจุบันที่มี PPA ในมือแล้ว 2,431 เมกะวัตต์ในปีดังกล่าว
โดยการกู้เงินดังกล่าวก็จะช่วยทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัททยอยลดลงด้วย โดยมีเป้าหมายที่จะลดดอกเบี้ยเฉลี่ยลงเหลือ 4.5% ในสิ้นปี 60 และเหลือ 4% ในปี 61 จากระดับ 5.5% ในปัจจุบัน