ฟิทช์จัดอันดับเครดิตภายในประเทศหุ้นกู้ชุดใหม่ของ SCC ที่ระดับ ‘A(tha)’

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 15, 2017 16:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long Term Rating) หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่ของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) (ซึ่งมีอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มเครดิตเป็นบวก) มูลค่ารวม 3.5 หมื่นล้านบาท ที่ระดับ ‘A(tha)’ โดยหุ้นกู้ดังกล่าวมีจำนวนสองชุด ได้แก่ ชุดที่ 2/2560 จำนวน 1.0 หมื่นล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2567 และชุดที่ 3/2560 จำนวน2.5 หมื่นล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2564

เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ครั้งนี้จะนำไปใช้สำหรับชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดและใช้สำหรับการลงทุนในอนาคต หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCC เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีหลักประกัน และไม่ด้อยสิทธิของ SCC

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต ประกอบด้วย อัตราส่วนหนี้สินยังเป็นไปตามที่คาด - ฟิทช์คาดว่า SCC จะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ไว้ได้ในระดับต่ำกว่า 2.8 เท่า แม้ว่าบริษัทฯ มีการใช้เงินลงทุนที่สูงกว่าที่คาดในโครงการปิโตรเคมีในประเทศเวียดนาม (Long Son Petrochemicals Project หรือ LSP) โดยกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในครึ่งปีแรกของปี 2560 เป็นไปตามที่ฟิทช์คาดไว้ อัตราส่วนหนี้สินในปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำที่ระดับ 2.0 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 น่าจะช่วยทำให้ SCC สามารถรองรับแผนการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจำนวน 2.5-2.6 แสนล้านบาท ในช่วงห้าปีข้างหน้า ซึ่งรวมถึงโครงการ LSP ได้โดยที่อัตราส่วนหนี้สินไม่เพิ่มสูงขึ้นจนกระทบอันดับเครดิต

SCC จะยังคงแผนการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในช่วงห้าปีข้างหน้าที่ระดับเดิม ฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ น่าจะต้องมีปรับเปลี่ยน เลื่อน หรือ ยกเลิก แผนการลงทุนในบางโครงการ เนื่องจากเงินลงทุนในโครงการ LSP อยู่ที่ประมาณ 1.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 70 ของแผนการใช้จ่ายลงทุนทั้งหมดในช่วงห้าปีข้างหน้า โดย SCC มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุน เนื่องจากแผนการลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่ได้กำหนดแน่นอน เช่น แผนการขยายกำลังการผลิตในโรงงานเดิม หรือการเข้าซื้อกิจการ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายลงทุนที่สูงขึ้นเกินกว่าที่ฟิทช์คาดไว้อย่างมีนัยสำคัญ อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตได้

การกระจายความเสี่ยงในภูมิศาสตร์ที่ดีขึ้น - แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวกสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ต่อสถานะทางธุรกิจของ SCC ที่ดีขึ้นจากการขยายกำลังการผลิตและการลงทุนในภูมิภาค ซึ่งเมื่อสัดส่วนของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในภูมิภาคเหล่านี้เพิ่มขึ้นจนมีนัยสำคัญต่อกระแสเงินสดโดยรวม จะช่วยสนับสนุนให้สถานะทางธุรกิจและการเงินของ SCC แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยสัดส่วนของกำลังการผลิตปูนซีเมนต์นอกประเทศไทยต่อกำลังการผลิตทั้งหมดของ SCC น่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 31 ในปี 2560 จากร้อยละ 4 ในปี 2557 นอกจากนี้ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคน่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนกำไรจากการส่งออกจากประเทศไทย

โครงการ LSP น่าจะช่วยเพิ่มการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจของ SCC ให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรขนาดใหญ่ในต่างประเทศ โดยโครงการ LSP จะทำให้ SCC มีกำลังการผลิตโอเลฟินส์ เพิ่มขึ้นประมาณ 1.6 ล้านตันต่อปี จากเดิมที่มีกำลังการผลิตประมาณ 3.1 ล้านตันต่อปี (ไม่รวมโรงงานที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัทร่วม) ฟิทช์คาดว่า โครงการ LSP จะช่วยขยายขนาดของธุรกิจและสร้างผลประโยชน์ทางการค้าอื่นๆ ให้กับ SCC ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะยังไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากการก่อสร้างโรงงานคาดว่าต้องใช้เวลาก่อนสร้างประมาณ 4.5 ปี

การกระจายความเสี่ยงในหลากหลายธุรกิจ – อันดับเครดิตของ SCC ยังได้รับการสนับสนุนจากการที่บริษัทฯ มีแหล่งที่มาของรายได้จากธุรกิจหลักที่หลากหลาย ได้แก่ ธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจเคมีภัณฑ์ และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีส่วนช่วยให้กระแสเงินสดของบริษัทฯ มีความสม่ำเสมอมากขึ้น รวมถึงลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2558-2559 เป็นช่วงวงจรธุรกิจขาขึ้นของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ซึ่งส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทฯ และช่วยชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอุปสงค์ที่อ่อนแอของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ

สถานะความเป็นผู้นำตลาด – SCC เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อันดับเครดิตของ SCC ได้รับการสนับสนุนจากสถานะความเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจหลักของบริษัทฯ โดย SCC มีกำลังการผลิตและส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในกลุ่มสินค้าปูนซีเมนต์ กระเบื้องเซรามิก เคมีภัณฑ์ขั้นปลาย (โพลีโอเลฟินส์และพีวีซี) และกระดาษบรรจุภัณฑ์ ฟิทช์คาดว่า SCC มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ระดับ 7.5-8.0 หมื่นล้านบาทต่อปี และอัตราส่วนกำไรดังกล่าวต่อรายได้ (EBITDA Margin) ที่ระดับร้อยละ 15-17 ในปี 2560-2562 โดยกำไรส่วนใหญ่ของ SCC ในปี 2560 น่าจะยังคงมาจากธุรกิจเคมีภัณฑ์เป็นหลัก ในขณะที่การฟื้นตัวของธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างน่าจะชัดเจนขึ้นในปี 2561

ความผันผวนของธุรกิจ – อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงการที่ SCC ต้องเผชิญกับความผันผวนของธุรกิจเคมีภัณฑ์ ทั้งนี้ SCC มีอิทธิพลในการกำหนดราคาที่จำกัด เนื่องจากสินค้าหลักส่วนใหญ่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งถูกกำหนดราคาโดยอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลก

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป SCC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในบรรดาบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างในประเทศไทย ซึ่งรวมถึง บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) (SCCC, ‘A(tha)’/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และบริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) (TASCO, ‘A-(tha)’/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) โดย SCCC และ TASCO ประกอบธุรกิจหลักเพียงอย่างเดียว และ SCCC มีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศต่ำกว่าบริษัทฯ ในแง่ของสถานะทางการเงิน SCC มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวสามารถชดเชยได้ด้วยขนาดธุรกิจของ SCC ที่ใหญ่กว่าและการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจที่หลากหลายกว่า

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้เติบโตในอัตราประมาณร้อยละ 10 ต่อปี ในปี 2560 โดยมาจากธุรกิจเคมีภัณฑ์เป็นหลัก และประมาณร้อยละ 5 ต่อปี ในปี 2561 โดยมาจากธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างเป็นหลัก
  • EBITDA Margin ลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 15-17 ในปี 2560-2561
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน 4.5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2560-2561
  • อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ที่ระดับร้อยละ 40-50

ขณะที่ ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต ด้านปัจจัยบวก ได้แก่ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานในภูมิภาคเพิ่มขึ้นจนมีสัดส่วนที่มีนัยสำคัญต่อกระแสเงินสดรวม โดยยังคงรักษา FFO adjusted net leverage ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2.8 เท่า อย่างต่อเนื่อง

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ แนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับเป็นมีเสถียรภาพ หากปัจจัยบวกดังกล่าวข้างต้นไม่เกิดขึ้น

สภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ดี: สภาพคล่องของ SCC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดและเงินลงทุนเทียบเท่าเงินสด (ได้รับการปรับปรุงตัวเลขโดยฟิทช์) จำนวน 4.2 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านตลาดตราสารหนี้ในประเทศรวมถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 บริษัทฯ มีหนี้ทั้งหมดจำนวน 1.9 แสนล้านบาท โดยร้อยละ 86 เป็นหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ สกุลเงินบาท ประมาณร้อยละ 37 ของหนี้ทั้งหมดจะถึงกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ