ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของ บมจ.เอสพีซีจี (SPCG) เป็น “A" จากเดิมที่ระดับ “A-"
อันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่มั่นคงมาตั้งแต่เริ่มกิจการซึ่งดีกว่าที่ประมาณการไว้ รวมถึงภาระหนี้เงินกู้รวมที่ลดลงด้วย ซึ่งปัจจัยทั้ง 2 ประการส่งผลทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น
อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงการมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งประสบการณ์ของคณะผู้บริหารจากการเป็นผู้บุกเบิกในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า และแนวโน้มที่ดีของการใช้พลังงานทดแทนของประเทศที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากแผนการลงทุนของบริษัท
SPCG ก่อตั้งในปี 2539 ในชื่อเดิมคือ บริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย ในปี 2554 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) แบบทางอ้อม (Reverse Listing) และได้เปลี่ยนชื่อเป็น เอสพีซีจี หลังจากนั้นบริษัทได้ย้ายการซื้อขายหลักทรัพย์ไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2555
ณ เดือนมีนาคม 2560 ครอบครัวกุญชรยาคงเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทในสัดส่วน 49% บริษัทมีฐานะเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนส่วนใหญ่ในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งสิ้น 36 โครงการ โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญารวมทั้งสิ้น 205.92 เมกะวัตต์ ในปี 2559 รายได้หลักของบริษัทจำนวน 80% มาจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และประมาณ 16% มาจากธุรกิจติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ส่วนที่เหลืออีก 4% มาจากธุรกิจผลิตหลังคาเหล็กและธุรกิจอื่น ๆ
สถานะทางธุรกิจอันแข็งแกร่งของบริษัทเป็นผลจากกระแสเงินสดที่แน่นอนที่บริษัทได้รับจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยบริษัทเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ดำเนินงานแล้ว 36 แห่งผ่านบริษัทย่อย โรงไฟฟ้าทั้งหมดมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่อัตรา 8 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (หน่วย) เป็นระยะเวลา 10 ปี
กระแสเงินสดของบริษัทมีความแน่นอนและคาดการณ์ได้เนื่องจากบริษัทมีอัตราค่ารับซื้อไฟฟ้าที่แน่นอนจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระเงินจากผู้ซื้ออยู่ในระดับต่ำ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทตั้งอยู่ในพื้นที่ 9 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในจังหวัดลพบุรี ซึ่งจากข้อมูลสถิติความเข้มรังสีดวงอาทิตย์พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์
ในด้านสัญญาซื้อขายไฟฟ้านั้น บริษัทมีความได้เปรียบกว่าผู้ประกอบการรายอื่นเนื่องจากบริษัทได้รับค่ารับซื้อไฟฟ้าในอัตราสูงสุดจากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ นอกจากนี้ ประสบการณ์ของคณะผู้บริหารในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ก็ยังช่วยเสริมความเข้มแข็งให้แก่บริษัทอีกด้วยโดยบริษัทเป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เชิงพาณิชย์รายแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ สถานะทางธุรกิจที่เข้มแข็งของบริษัทยังเป็นผลมาจากการมีนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังด้วยเช่นกัน
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตเป็นผลมาจากการที่บริษัทมีผลการดำเนินงานที่มั่นคงและดีกว่าประมาณการมาโดยตลอด รวมถึงการมีภาระเงินกู้รวมที่ลดลง ส่งผลให้บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินที่ดีขึ้น โรงไฟฟ้าของบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีมาตั้งแต่จัดตั้งซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการใช้อุปกรณ์ที่ผ่านการพิสูจน์แล้วและได้รับการรับรอง รวมทั้งการดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ โรงไฟฟ้าของบริษัทได้รับการติดตั้งอุปกรณ์สำคัญที่มีมาตรฐาน เช่น แผ่นเซลล์แสงอาทิตย์และเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าซึ่งบริษัทสั่งซื้อจากผู้จำหน่ายที่มีชื่อเสียง ได้แก่ Kyocera Corporation (Kyocera) และ SMA Solar Technology AG (SMA) โดยผู้จำหน่ายทั้ง 2 รายมีการรับประกันประสิทธิภาพของอุปกรณ์ระยะยาวให้แก่บริษัท
บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าที่ทริสเรทติ้งได้คาดการณ์ไว้มาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่บริษัทได้รับอันดับเครดิต บริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงกว่าที่คาดการณ์ประมาณ 13% ต่อปี ในปี 2559 บริษัทผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 391 ล้านหน่วยซึ่งสูงกว่าประมาณการที่ 346 ล้านหน่วยอยู่ 13% นอกจากนี้ ไฟฟ้าที่ผลิตได้ยังมีปริมาณสูงกว่าประมาณการเบื้องต้นของพลังงานไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้ที่ระดับความน่าจะเป็น 50% (P50) อยู่ 7% สำหรับปี 2559 อีกด้วย
ทั้งนี้ P50 แสดงถึงปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อปีซึ่งมีโอกาสที่จะสูงเกินระดับได้ 50% โดยปรกติแล้ว P50 จะสะท้อนผลผลิตที่ดีที่สุดของโครงการหนึ่ง ๆ ซึ่งมาจากการประมาณการที่พิจารณาถึงความไม่แน่นอนต่าง ๆ ของโครงการนั้น ๆ บริษัทมีประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 77.5% ในปี 2559 สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 นั้น บริษัทผลิตไฟฟ้าได้ 199 ล้านหน่วย ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ คาดว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทจะสร้างรายได้ประมาณ 4,000-4,500 ล้านบาทต่อปีด้วยกำลังการผลิต ณ ปัจจุบัน
จากการมีโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงทำให้บริษัทสามารถมีกระแสเงินสดที่สูงและแน่นอนผ่านการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งของบริษัท เป็นผลให้ภาระเงินกู้รวมของบริษัทลดลงและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทก็เพิ่มขึ้น โดยบริษัทมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ต่อดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นจาก 4.4 เท่าในปี 2558 เป็น 6.5 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2560
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) สูงเพราะได้รับ Adder และมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ต่ำ โดยอัตราค่ารับซื้อไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แต่ละแห่งของบริษัทได้รับอยู่ที่ประมาณ 11 บาทต่อหน่วย และบริษัทยังมีอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ที่ประมาณ 85% อีกด้วย บริษัทมีเงินกู้รวมลดลงจาก 15,796 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 เหลือ 12,977 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560
ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนดีขึ้นจาก 65.1% ณ สิ้นปี 2558 เป็น 55.4% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมก็ดีขึ้นเช่นกันโดยเพิ่มขึ้นจาก 19.1% ในปี 2558 เป็น 25% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 นอกจากภาระเงินกู้ยืมที่ลดลงแล้ว บริษัทยังสำรองเงินสดจำนวนมากไว้สำหรับรองรับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงรวมถึงสำหรับการลงทุนใหม่ ๆ ของบริษัท
อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงโอกาสในการเติบโตของการใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยด้วยโดยเห็นได้จากการที่ภาครัฐมีนโยบายระยะยาวในการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกซึ่งรวมถึงการให้การสนับสนุนแก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ ความต้องการในการใช้พลังงานก็จะยังคงเติบโตอย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวยังมีข้อจำกัดจากความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตามแผนการลงทุนเพื่อตอบสนองการเติบโตของบริษัท ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีแนวโน้มจะลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ เพื่อเสริมกำลังการผลิตให้แก่โรงไฟฟ้าของบริษัท บริษัทจำเป็นจะต้องลงทุนเพิ่มเติมเพื่อที่จะรักษาระดับรายได้ให้ยังคงแข็งแกร่ง Adder ที่โรงไฟฟ้าต่าง ๆ ของบริษัทได้รับนาน 10 ปีกำลังจะสิ้นสุดในระหว่างปี 2563 จนถึงปี 2567 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้จากโรงไฟฟ้าลดลงอย่างรวดเร็ว บริษัทจึงมุ่งเน้นการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศเนื่องจากโอกาสการลงทุนภายในประเทศเริ่มมีจำกัดในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า
ประกอบกับบริษัทมีแนวทางที่จะหลีกเลี่ยงการลงทุนในแหล่งพลังงานทดแทนที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นด้วย การลงทุนในต่างประเทศในช่วงเริ่มต้นจะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงเช่นเดียวกับผู้พัฒนาโครงการรายอื่น ๆ เช่น ความเสี่ยงของประเทศที่ไปลงทุน ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ ความเสี่ยงจากการก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายที่สูงเกิน ความล่าช้าในการได้รับใบอนุญาต ความเสี่ยงทางการเงิน และความล่าช้าในการเริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์ เป็นต้น
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทในช่วงปี 2560-2562 เพื่อขยายกำลังการผลิต อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายการเงินที่ระมัดระวัง บริษัทมีแผนจะเพิ่มทุนประมาณ 1,800 ล้านบาทด้วยวิธีจัดสรรให้แก่บุคคลในวงจำกัดโดยการขายหุ้นใหม่ประมาณ 92.4 ล้านหุ้น ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงไม่คิดว่าบริษัทจะพึ่งพาการกู้ยืมเป็นหลักสำหรับการลงทุนใหม่ ๆ จากประมาณการ EBITDA รวมทั้งการลงทุน และการเพิ่มทุนในระดับดังกล่าว อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจึงคาดว่าจะอยู่ต่ำกว่า 50% ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะอยู่ในระดับสูงกว่า 23% ในช่วงประมาณการ
ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าการผลิตไฟฟ้าของบริษัทจะสอดคล้องกับประมาณการ P90 หรือที่ระดับความน่าจะเป็นที่ 90% สำหรับพลังงานไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้ (P90) และประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 78% โดยคาดว่าบริษัทจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 340-350 ล้านหน่วยต่อปี ในขณะที่ EBITDA คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3,300-3,500 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2560-2563 ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไปคาดว่า EBITDA จะค่อย ๆ ลดลงเนื่องจากการทยอยหมดอายุของ Adder
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าให้สูงกว่า 75% ได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้บริษัทมี EBITDA อย่างน้อยที่ระดับ 3,300-3,500 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่คาดว่าบริษัทจะยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินแบบระมัดระวังโดยที่การลงทุนขยายธุรกิจของบริษัทไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อสถานะความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถเพิ่ม EBITDA ได้อย่างต่อเนื่องจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่สามารถสร้างผลกำไรหรือบริษัทได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่แข็งแกร่งในขณะที่บริษัทสามารถควบคุมภาระหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในทางตรงกันข้าม ปัจจัยเชิงลบต่ออันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้จากประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าที่ถดถอยลงจนส่งผลต่อความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ หรือการขยายธุรกิจด้วยการก่อหนี้ในระดับสูง