LOXLEY เล็งทยอยส่ง 2 บ.ย่อยเข้าตลาดหุ้นตั้งแต่ปี 61 หวังปรับเป็นโฮลดิ้ง,รุดลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลใน-ตปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 17, 2017 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเฉลิมโชค ล่ำซำ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนยกระดับเป็นธุรกิจโฮลดิ้ง โดยจะมีการนำบริษัทย่อยของ LOXLEY ที่สร้างกำไรได้แล้วทยอยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ปี 61 เป็นต้นไป

เบื้องต้นบริษัทพิจารณานำ 2 บริษัทย่อยในกลุ่มงานโครงการที่สร้างกำไรแล้วมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ เพาเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด (LPS) ที่ดำเนินธุรกิจก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคเกี่ยวกับสายส่งไฟฟ้ากำลังและสายสัญญาณสื่อสาร โดยธุรกิจนี้บริษัทคาดว่าจะสามารถนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้เป็นตัวแรกในปี 61 ซึ่งปัจจุบันมีที่ปรึกษาทางการเงินเข้ามาดูในเรื่องโครงสร้างธุรกิจและการวางแผนการเติบโตของธุรกิจในอนาคตไว้แล้ว

ส่วนอีกหนึ่งธุรกิจที่บริษัทได้มีการพิจารณา คือ บริษัท ล็อกซเล่ย์ ไวร์เลส ซิสเต็ม อินทิเกรเตอร์ จำกัด ดำเนินกิจการบริการรับเหมาติดตั้งงานด้านสื่อสารโทรคมนาคม

“ถ้ามองไปใน 3 ปีข้างหน้า ตัวของ LOXLEY ก็จะทำให้เป็น Holding ซึ่งเราจะนำบริษัทย่อยที่มีกำไร Spin Off ออกมา ตัวไหนที่ไม่สร้างกำไรก็อาจจะปิดไป ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความเหมาะสม ส่วนการลงทุนใหม่ๆเราก็มองไปถึงการร่วมทุนไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนที่คนอื่นมาชวนเรา หรือโครงการที่เราไปเสนอให้กับพันธมิตร ซึ่งที่ผ่านมา LOXLEY ได้รับความเชื่อถืออย่างมากในวงการธุรกิจ"นายเฉลิมโชค กล่าว

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะดีกว่าครึ่งปีแรกที่มีรายได้อยู่ที่ 7.4 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 218.90 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการรับรู้รายได้จากมูลค่างานในมือ (Backlog) ที่เพิ่มขึ้น โดยจะมีการรับรู้ในช่วงครึ่งปีหลัง 59% จาก Backlog ที่มีอยู่ทั้งหมด 1.19 หมื่นล้านบาท ซึ่งการทยอยรับรู้รายได้ในช่วงครึ่งปีหลังถือว่าสูงกว่าครึ่งปีแรกที่รับรู้รายได้ไปเกือบ 7 พันล้านบาท

ทั้งนี้ รายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทยังมาจากงานโครงการมากที่สุด ซึ่งตั้งเป้ารายได้จากงานโครงการในปีนี้อยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท รายได้จากธุรกิจเทรดดิ้ง 4 พันล้านบาท และรายได้จากธุรกิจให้บริการ 1 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้ในปีนี้ตามเป้าหมายที่ 1.6 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 15-20% จากปีก่อนตามเป้าหมาย และคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นในปีนี้จะอยู่ที่ 15% ใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก ซึ่งบริษัทมั่นใจว่าภาพรวมของผลการดำเนินงานในปีนี้จะออกมาสูงกว่าปีก่อนทั้งรายได้และกำไร

ส่วนการประมูลโครงการในช่วงครึ่งปีหลังไปจนถึงต้นปี 61 บริษัทจะเข้าร่วมประมูลงานมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานโครงการภาครัฐ แต่บริษัทไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะได้รับงานจากที่เข้าร่วมประมูลเท่าใด เพราะเป็นเรื่องที่มีความไม่แน่นอน โดยเบื้องต้นงานที่จะเข้าร่วมประมูลเป็นงานโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 มูลค่า 8.5 พันล้านบาท งานโครงการที่เกี่ยวกับธุรกิจพลังงาน มูลค่า 5.6 พันล้านบาท งาน E-BUS มูลค่า 2.73 พันล้านบาท และงานทางด่วน 2 พันล้านบาท เป็นต้น

นายเฉลิมโชค มองว่าโอกาสการเติบโตของงานโครงการยังมีค่อนข้างสูงในอนาคต เพราะยังมีโครงการต่างๆของภาครัฐที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีโครงการทั้งหมด 43 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 1.7 ล้านล้านบาท โดยบริษัทมีความสนใจเข้าไปร่วมประมูล ประกอบกับการชื่อเสียงของบริษัทำให้บรัทืมีโอกาสค่อนข้างมากที่จะได้รับความไว้วางใจในการเข้ารับงานทั้งงานจากภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ปัจจุบันส่วนการลงทุนอื่นๆ บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรเพื่อลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคใต้และเมียนมา โดยการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคใต้คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนภายในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น 1 ราย และพันธมิตรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 1 ราย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงขนาดกำลังการผลิต และจำนวนเงินลงทุน ส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลในเมียนมาคาดว่ายังไม่เห็นความชัดเจนภายในช่วงที่เหลือของปีนี้

ด้านกรณีข้อพิพาทระหว่างบริษัทกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในเรื่องหวยออนไลน์ ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการของศาล เพราะสำนักงานสลากฯ เป็นฝ่ายผิดสัญญา คาดว่าเร็วๆนี้จะได้ข้อสรุปการเจรจาไกล่เกลี่ย และทางสำนักงาสลากฯอยู่ระหว่างการแก้ไขกฏหมายในปัจจุบันเพื่อรองรับโครงการดังกล่าว ซึ่งบริษัทเชื่อว่ากระบวนการต่างๆเกี่ยวกับหวยออนไลน์จะมีความชัดเจนออกมาภายใน 1 ปี หลังจากกระบวนการต่างๆ ล่าช้าไปมากแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ