โบรกเกอร์ แนะ"ซื้อ"หุ้น บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) หลังมองผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/60 จะฟื้นตัวจากไตรมาส 2/60 ที่ได้รับผลกระทบจากขาดทุนสต็อกน้ำมันและการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น อย่างไรก็ตาม ค่าการกลั่น (GRM) ที่ยังอยู่ในระดับสูง ทั้งในส่วนผลิตภัณฑ์น้ำมันเบนซินและดีเซล จากความต้องการในภูมิภาคที่มีอยู่สูง และการกลับมาใช้กำลังการกลั่นเต็มที่ รวมถึงยังมีลุ้นกำไรจากสต็อกน้ำมันหลังราคาน้ำมันดิบในขณะนี้สูงกว่าราคาปิดสิ้นไตรมาส 2/60 ก็จะเป็นปัจจัยช่วยหนุนผลการดำเนินงานของ SPRC ในไตรมาส 3/60
นอกจากนี้ SPRC เป็นหุ้นที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลสูงสุดในกลุ่มโรงกลั่น แม้ว่าล่าสุดจะประกาศแผนขยายกำลังการกลั่นอีก 1 หมื่นบาร์เรล/วัน ด้วยเงินลงทุนราว 70 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 62 นั้น ก็เชื่อว่าจะ SPRC จะยังมีความสามารถจ่ายปันผลในระดับสูงได้ต่อไป
ราคาหุ้น SPRC ช่วงเช้าอยู่ที่ 16 บาท ลดลง 0.10 บาท หรือ 0.62% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับรขึ้น 0.05 บาท
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) ไอร่า ซื้อ 19.20 ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ซื้อ 19.00 ธนชาต ซื้อ 18.60 เอเอสแอล เก็งกำไร 16.50 เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ ถือ 14.70
นายศักดิ์นรินทร์ ศศานนท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไอร่า กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ SPRC ในไตรมาส 3/60 มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวจากไตรมาส 2/60 จากค่าการกลั่นที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งในส่วนของค่าการกลั่นเบนซินและดีเซล ตามความต้องการผลิตภัณฑ์เบนซินและดีเซลที่มีอยู่มากในภูมิภาค ขณะที่ SPRC ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตน้ำมันเบนซินสูงสุดเมื่อเทียบกับโรงกลั่นอื่นอยู่ที่ 26% ของการผลิตทั้งหมดก็จะได้รับประโยชน์จากค่าการกลั่นเบนซินที่อยู่ในระดับสูงด้วย
สำหรับความกังวลต่อปัญหาขาดทุนจากสต็อกน้ำมันที่กลุ่มโรงกลั่นได้รับผลกระทบในช่วงไตรมาส 2/60 และทำให้ผลกำไรลดลง ซึ่งรวมถึง SPRC ที่มีกำไรในไตรมาส 2/60 อยู่ที่ 594 ล้านบาท ลดลง 80% จากไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อนนั้น ก็เชื่อว่าในไตรมาส 3/60 จะได้รับผลกระทบน้อยลง เพราะปัจจุบันราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 49 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงกว่าระดับเฉลี่ยของเดือน มิ.ย.60 ที่อยู่ในระดับ 46 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งใช้เป็นระดับอ้างอิงของราคาปิดในสิ้นไตรมาส 2/60 หากราคาน้ำมันดิบไม่ต่ำกว่าระดับดังกล่าวก็เชื่อว่าจะทำให้ไม่มีผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน
นอกจากนี้ SPRC น่าจะกลับมาใช้อัตรากำลังการกลั่นในระดับ 100% ได้ในช่วงไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 79% ในไตรมาส 2 หลังจากได้หยุดซ่อมบำรุงหน่วยหอกลั่นน้ำมันดิบ (CDU) เป็นเวลา 10 วัน
"เราคาดว่ากำไรในไตรมาส 3 จะฟื้นตัวจากไตรมาส 2 จากค่าการกลั่นที่ดีขึ้นทั้งเบนซิน และดีเซล จาก demand ในภูมิภาคที่ดี แต่ที่สูงมาก ๆ เป็นค่าการกลั่นดีเซล แต่ค่าการกลั่นเบนซินก็ยังนับว่ายืนอยู่ในระดับที่สูงเช่นกัน"นายศักดิ์นรินทร์ กล่าว
นายศักดิ์นรินทร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับแผนการขยายกำลังการกลั่นของ SPRC อีก 1 หมื่นบาร์เรล/วัน มาเป็น 1.75 แสนบาร์เรล/วัน ในปี 62 ด้วยเงินลงทุนเพียง 70 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่จะช่วยเพิ่มกำลังการกลั่นได้อีกราว 6% นั้น นับว่าคุ้มค่า เพราะจะใช้เวลาเพียง 2 ปีก็จะคุ้มทุน และเชื่อว่าการลงทุนดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการจ่ายเงินปันผล โดยประเมินว่าปีนี้ SPRC จะจ่ายปันผลระดับ 1 บาท/หุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลกว่า 6% ซึ่งนับเป็นหุ้นโรงกลั่นที่ให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงที่สุดด้วย
ด้านนักวิเคราะห์ บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของ SPRC ในไตรมาส 3/60 จะฟื้นตัวได้จากค่าการกลั่นที่สูงขึ้น โดยคาดว่าส่วนต่างของผลิตภัณฑ์เบนซินและดีเซลจะเพิ่มขึ้นราว 30% จากไตรมาสก่อน ซึ่งปัจจุบันค่าการกลั่นยืนในระดับที่สูงกว่า 7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนผลกำไรในไตรมาสนี้
ขณะที่บทวิเคราะห์ บล.เอเอสแอล ระบุว่ามีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 3/60 ของ SPRC จากการฟื้นตัวของค่าการกลั่นพื้นฐาน โดยค่าการกลั่นของกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักปรับเพิ่มในทุกผลิตภัณฑ์ โดยค่าการกลั่นตั้งแต่ต้นไตรมาส 3 จนถึงปัจจุบันของน้ำมันเบนซิน น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน และน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่ม 27.5%, 11.2% และ 23.0% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสต่อไตรมาส
นอกจากนี้ การใช้กำลังกลั่นที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงนอกแผนเหมือนไตรมาส 2/60 และยังได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน โดยปัจจุบันราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 49 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มจาก 46 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ณ สิ้นไตรมาส 2/60 ทำให้ผลประกอบการในไตรมาส 3/60 มีโอกาสรับรู้กำไรจากสต็อกน้ำมัน
ขณะที่แผนขยายกำลังการกลั่นน้ำมันอีกราว 6% ในปี 62 ซึ่งเป็นปีที่ SPRC จะครบกำหนดซ่อมบำรุงใหญ่ในทุก 5 ปี แม้ที่ผ่านมา SPRC จะสามารถจ่ายเงินปันผลที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง เนื่องจากยังไม่มีแผนลงทุนขนาดใหญ่ก็ตาม แต่ก็ประเมินว่าระหว่างปี 60-61 บริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เฉลี่ย 1.3 หมื่นล้านบาท/ปี รวมเงินสดในมือ หักภาระดอกเบี้ยจ่าย จึงจะยังไม่กระทบความสามารถในการจ่ายเงินปันผลในอัตราเดิม บนสมมติฐานอัตราจ่ายปันผล 60% ของกำไร/หุ้น