(เพิ่มเติม) PTT ตั้งเป้า EBIT โครงการเพิ่มประสิทธิภาพปีนี้ 2.87 หมื่นลบ.,วางกลยุทธ์ PTT3D รองรับความท้าทายในอนาคต

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 17, 2017 17:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.ตั้งเป้าปีนี้เพิ่มกำไรก่อนต้นทุนทางการเงินและภาษีเงินได้ (EBIT) ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจด้าน productivity improvement อีก 28,700 ล้านบาท จากระดับ 24,000 ล้านบาทในปีที่แล้ว โดยในช่วงครึ่งแรกปีนี้ทำได้แล้ว 13,077 ล้านบาท หรือราว 46% ของเป้าหมาย

ทั้งนี้ EBIT ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ EBIT รวมในช่วงครึ่งแรกปีนี้ที่ทำได้ระดับ 130,504 ล้านบาท

ขณะที่ผลการดำเนินงานของ ปตท.ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ที่ทำกำไรสุทธิได้ 77,485 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนับเป็นผลประกอบการที่กลับมาสู่ภาวะปกติของกลุ่ม ปตท.หลังจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถูกกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมัน และการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ เสริมด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจด้วย Productivity Improvement ตามโครงการต่าง ๆ ของกลุ่มบริษัท เช่น EVEREST , MAX เป็นต้น

นายเทวินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับระยะต่อไปกลุ่ม ปตท.ได้วางยุทธศาสตร์เพื่อรองรับความท้าทายต่าง ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV Car) ,ราคาน้ำมัน ,การเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ , การคืนท่อก๊าซฯ ,สัมปทานปิโตรเลียมหมดอายุ เป็นต้น โดยปตท.จะขยายการเติบโตที่ยั่งยืนด้วยกลยุทธ์ PTT3D ได้แก่ DO NOW ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันเพื่อสร้างรายได้และลดต้นทุนต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาและการเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยี

และ DECIDE NOW เป็นการขยายการเติบโตที่ต้องเร่งตัดสินใจภายใน 2-3 ปี เพื่อนำไปสู่การลงทุนของธุรกิจในอนาคต ให้สอดคล้องกับศักยภาพทางการเงินของกลุ่ม ปตท.โดยจะเน้นในเรื่องการลงทุนห่วงโซ่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Value Chain) การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน โดยผ่าน บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ที่ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,922 เมกะวัตต์ (MW) และตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 2,922 เมกะวัตต์ในปี 65 และเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เป็น 10% และการแสวงหาโอกาสการลงทุนในภูมิภาคและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

ส่วน DESIGN NOW เป็นการเร่งสร้างธุรกิจใหม่ให้มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคต โดยการมองหาโอกาสทางธุรกิจ และพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ตอบสนองทิศทางโลกาภิวัฒน์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่คุณค่าด้านไฟฟ้า (Electricity Value Chain) และธุรกิจใหม่ภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าด้านชีวภาพ (Bio-Based Value Chain) ซึ่งขณะนี้ได้มีการลงทุนในวงเงิน 30 ล้านเหรียญสหรัฐใน 4 กองทุนทั่วโลกที่ลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน

นายเทวินทร์ กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.เตรียมลงทุนใน 5 ปี (ปี 60-64) โดยเน้นลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ประกอบด้วย คลัง LNG ,โครงการท่อส่งก๊าซฯ ,โครงการปรับปรุงโรงกลั่นและปิโตรเคมี และโครงการธุรกิจใหม่ (New S-Cure) เช่น อุตสาหกรรมชีวภาพ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม เป็นต้น

สำหรับแผนการเปิดเสรีธุรกิจธุรกิจ LNG ของรัฐบาลนั้น นายเทวินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้นับว่ายังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อ ปตท.ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้นำเข้า LNG เพียงรายเดียวอย่างไร แต่เบื้องต้น ปตท.เตรียมความพร้อมที่จะแยกบัญชีท่อก๊าซธรรมชาติออกจากระบบจัดหาและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปีนี้ที่รัฐบาลมีแผนให้มีการแยกบัญชีดังกล่าวเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้บริหารระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (TSO) รองรับการเปิดเสรี LNG

ด้านนายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ปตท.กล่าวว่า การเปิดเสรีธุรกิจ LNG จะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขั้นแรกเป็นการทดสอบระบบด้วยการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทดลองการนำเข้า LNG จำนวน 1.5 ล้านตัน/ปี และเริ่มจัดหาภายในปี 61 ขั้นที่สองจะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนจะเปิดเสรีเต็มรูปแบบในขั้นที่สามต่อไป ซึ่ง ปตท.ก็ให้การสนับสนุนนโยบายนี้เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และผู้บริโภค

“เราก็เตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนผ่านที่จะมีผู้เล่นเข้ามาอีกหลายกลุ่ม ทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าที่อยากจะเป็นผู้นำเข้าเอง ซึ่งเราจะทำอย่างไรในการทำธุรกิจตรงนี้ให้ป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเรามี network ที่เราสร้างมา การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เรามีก็เชื่อว่าจะแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตอนนี้เร็วเกินไปที่จะพูดว่าจะกระทบแค่ไหน ซึ่งเราเชื่อว่าการเติบโตของธุรกิจไม่ว่าจะเป็น LNG หรือต้นน้ำ เราก็มีโอกาสในการเติบโตที่ค่อนข้างกว้างขวาง โดยเฉพาะในเรื่อง Value Chain LNG ซึ่งการนำเข้า LNG เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น"นายวิรัตน์ กล่าว

นายวิรัตน์ กล่าวว่า การที่ กฟผ.จะนำเข้า LNG เองในปีหน้า 1.5 ล้านตัน หรือราว 220 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน อาจจะกระทบต่อสัญญาซื้อขายก๊าซฯกับปตท.บ้าง แต่เชื่อว่าจะอยู่ในปริมาณไม่มากนักเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานของกลุ่ม ปตท. โดยส่วนที่จะได้รับผลกระทบเป็นเพียงมาร์จิ้นการบริหารจัดการก๊าซฯเท่านั้น ส่วนค่าผ่านท่อก๊าซฯ ปตท.ยังคงได้รับเช่นเดิม และยังเชื่อว่าความต้องการใช้ก๊าซฯยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็จะทำให้ปริมาณขายก๊าซฯยังเติบโตอยู่

ส่วนการลงทุน LNG Value Chain นั้น กลุ่ม ปตท.ยังมองหาโอกาสการเข้าไปลงทุนเพิ่มในแหล่งผลิต LNG ซึ่งเป็นขั้นต้น หลังจากที่ได้เข้าลงทุน 10% ในโรงงานผลิต LNG ของเปโตรนาสแล้ว ซึ่งเป็นส่วนขั้นกลาง ที่เป็นการนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาแปลงสภาพเป็น LNG ซึ่งมีสถานะเป็นของเหลว (Liquefaction) นอกเหนือจากปัจจุบันบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) มีการลงทุนในแหล่งผลิต LNG อยู่แล้วที่โมซัมบิก และอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ


แท็ก (PTT)   ปตท.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ