BA มั่นใจปีนี้มีกำไรสุทธิแม้ธุรกิจการบินยังแย่แต่ได้กำไรจากเงินลงทุน-ธุรกิจบริการในสนามบินหนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 17, 2017 18:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการเงิน บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เปิดเผยว่า บริษัทยังมั่นใจผลการดำเนินงานในปีนี้จะยังมีกำไรสุทธิ แม้ว่าธุรกิจสายการบินเผชิญกับภาวะยากลำบากจากผลกระทบภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่มีความรุนแรงต่อเนื่อง ต้นทุนราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น และอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันอากาศยานที่เพิ่มขึ้นจาก 1% เป็น 23% ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยกดดันผลการดำเนินงานของธุรกิจสายการบินในปีนี้ที่บริษัทคาดว่าจะขาดทุนหรือมีกำไรเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีกำไรเข้ามาช่วยชดเชยจากบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจบริการภายในท่าอากาศยาน เช่น การให้บริการผู้โดยสารในท่าอากาศยาน ครัวการบิน และคลังสินค้าในท่าอากาศยานนานชาติสุวรรณภูมิที่ยังมีแนวโน้มของผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังมีกำไรจากเงินปันผลของเงินลงทุน ทั้งจากการถือหุ้นใน บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) 7% และกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย (SPF) สัดส่วน 33.03%

นายอนวัช กล่าวว่า ทั้งสองเป็นปัจจัยที่ช่วยให้บริษัทมองว่าผลการดำเนินงานในภาพรวมของ BA ในปีนี้จะมีกำไรได้ โดยครึ่งปีแรกบริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 44 ล้านบาท

"จากผลกระทบของอุตสาหกรรมสายการบินที่แข่งขันกันอย่างรุนแรง ต้นทุนราคาน้ำมัน และภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ที่ส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัท ทำให้บริษัทมองว่าในอนาคตจะเพิ่มสัดส่วนกำไรจากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับสายการบินเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 50% จากปัจจุบันสัดส่วนกำไรจากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับสายการบินอยู่ที่ 40%"นายอนวัช กล่าว

ขณะที่แนวโน้มรายได้ของบริษัทในปีนี้จะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้โต 12-13% จากปีก่อน หลังจากเผชิญกับภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่รุนแรงมากขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแข่งขันทางด้านราคา ทำให้จำนวนผู้โดยสารที่ไช้บริการของบริษัทลดลงไปบ้าง และส่งผลให้อัตราค่าโดยสารของบริษัทมีการปรับลดลง ซึ่งเป็นการปรับลดให้สามารถแข่งขันได้

นอกจากนั้น ผลกระทบของการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่รุนแรงยังทำให้อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) ของบริษัทที่คาดว่าในปีนี้จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 72% ซึ่งในครึ่งปีแรก Load Factor อยู่ที่ 67% โดยในครึ่งปีหลังคาดว่าจะอยู่ที่ 65-67%

ประกอบกับ สายการบินพันธมิตรบางสายการบินได้ลดเที่ยวบินที่บินมายังประเทศไทยลง และไปเน้นทำการบินในจุดหมายอื่นที่สร้างรายได้ที่มากกว่ามาทดแทน และมีสายการบินคู่แข่งจากตะวันออกกลางมาเปิดเส้นทางให้บริการในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อเนื่องไปถึงครึ่งปีหลังของปีนี้

"ยอมรับว่าการแข่งขันของอุตสาหกรรมรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแข่งขันราคา ทำให้มีผลกระทบต่อธุรกิจการบินของบางกอกแอร์เวยส์ แต่เราไม่เน้นการแข่งขันราคาสู้กับคู่แข่ง สิ่งที่เราต้องทำคือการทำการตลาดให้มากขึ้น การแข่งขันของอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นไม่ไช่เรากระทบคนเดียวเท่านั้น ทุกคนในอุตสาหกรรมก็กระทบไปด้วยทั้งหมด"นายอนวัช กล่าว

แต่บริษัทยังเชื่อว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3/60 จะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น เพราะเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวยุโรปเดินทางมาพักผ่อน และจุดหมายที่ได้รับความนิยมมากของนักท่องเที่ยวชาวยุโรป คือ สมุย ที่มีนักท่องเที่ยวจากยุโรปเดินทางมาท่องเที่ยวมาก และเป็นฐานรายได้หลักของบริษัท ทั้งธุรกิจสนามบิน และเป็นหนึ่งศูนย์กลางสายการบินของบางกอกแอร์เวยส์ ซึ่งจะช่วยหนุนให้ภาพรวมของผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/60 เป็นไตรมาสที่มีผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างดี

อีกทั้งบริษัทยังมีการบริหารจัดการต้นทุนต่างๆอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการต้นทุนราคาน้ำมันที่บริษัทได้มีการสต็อกน้ำมันไว้แล้วถึงไตรมาส 2/61 คิดเป็นสัดส่วน 60% ของอัตราการใช้ทั้งหมด โดยมีต้นทุนน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 65 เหรียญ/บาร์เรล อีกทั้งแม้ว่าบริษัทจะได้รับผลกระทบจากอัตรการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันอากาศยานที่เพิ่มขึ้น แต่บริษัทก็ไม่ได้ผลักภาระไปที่ราคาตั๋วโดยสาร

ส่วนการรับมอบเครื่องบินในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังเหลือรับมอบเครื่องบิน A319 อีก 1 ลำ หลังจากช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้รับมอบเครื่องบิน ATR72-600 มาแล้ว 2 ลำ และล่าสุดรับมอบเครื่องบิน A319 มาแล้ว 1 ลำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ