นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) กล่าวว่า การลงทุนผลิตแร่ลิเทียมในเหมืองที่อาร์เจนตินา ปริมาณ 25,000 ตัน/ปี ที่จะเริ่มในราวไตรมาส 3/62 ของบริษัท Lithium Americas Corp (LAC) ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 16% นั้น คาดว่าจะสามารถสร้างอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ได้ราว 28% เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำราว 2,500 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ราคาขายลิเทียมในปัจจุบันอยู่ที่ปัจจุบัน 10,000-12,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน และยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตตามความต้องการใช้ที่มีอยู่มาก
ขณะนี้ราคาของลิเทียมในการทำสัญญาซื้อขายระยะยาวได้ขยับขึ้นมากกว่า 4 เท่าตัว และคาดว่าจะมีความต้องการใช้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกือบ 5 เท่า ในปี 2568 เพื่อรองรับการเติบโตของการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) คาดว่าจะผลิตได้ถึง 20 ล้านคันในปี 2583 ในขณะที่ปริมาณลิเทียมยังคงผลิตได้ไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ บริษัทโดย BCP Innovation Pte. Ltd. (BCPI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้เข้าถือหุ้น 16% ใน LAC ซึ่งดำเนินโครงการเหมืองแร่ลิเทียมที่ประเทศอาร์เจนตินาและประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างโอกาสและสร้างรายได้ในธุรกิจสีเขียวทั้งในสัดส่วนของการถือหุ้นในเหมืองและได้ผลิตภัณฑ์ไปต่อยอดทำแบตเตอรี่คุณภาพสูง ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความสนใจลงทุน
ขณะที่ LAC เป็นผู้ถือหุ้น 50% ใน Minera Exar ร่วมกับ Sociedad Quimica y Minera de Chile (SQM) จากประเทศชิลี โดย SQM เป็นผู้ประกอบธุรกิจเคมีภัณฑ์ขนาดใหญ่ และยังเป็นผู้ผลิตแร่ลิเทียมจากน้ำเกลือ (brine) รายใหญ่ที่สุดในโลกที่มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดด้วย โดย Minera Exar อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ Cauchari Olaroz ซึ่งเป็นเหมืองแร่ลิเทียมในจังหวัด Jujuy ประเทศอาร์เจนตินา มีกำลังการผลิต 25,000 ตัน/ปี ในระยะแรกที่คาดว่าจะเริ่มผลิตในไตรมาส 3/62 หลังจากนั้นอีก 2-3 ปีคาดว่าจะเริ่มพัฒนาระยะที่ 2 มีกำลังผลิตเพิ่มเป็น 50,000 ตัน/ปี
นอกจากนี้ LAC ยังถือหุ้น 100% สำหรับการพัฒนาเหมืองแร่ลิเทียมอีกแห่งหนึ่งในรัฐ Nevada ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีคาดว่าใช้เวลาประมาณ 12 เดือน หลังจากนั้นจะทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะใช้เวลา 3-4 ปีจึงจะสามารถมีผลผลิตออกมาได้
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า แร่ลิเทียมนับว่าเป็นธาตุหลักที่สำคัญต่อการพัฒนาแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage system) ด้วยเป็นโลหะที่เบาที่สุดในตารางธาตุ และมีความสามารถเก็บประจุได้เป็นเวลานานกว่าแบตเตอรี่จากธาตุอื่น
สำหรับการลงทุนแร่ลิเทียมในเหมืองที่อาร์เจนตินาของบริษัทในครั้งนี้ บริษัทจะได้สิทธิการซื้อผลผลิตแร่ลิเทียมจาก Minera Exar ราว 10% ของปริมาณการผลิต เป็นเวลา 20 ปี นับตั้งแต่วันจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ซึ่งปริมาณดังกล่าวสามารถนำไปผลิตแบตเตอรี่สำหรับโทรศัพท์มือถือได้กว่า 800 ล้านเครื่อง/ปี หรือผลิตแบตเตอรี่สำหรับใช้ในรถไฟฟ้า (Plug in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) กว่า 150,000 คัน
อนึ่ง LAC ยังมีบริษัท Ganfeng Lithium ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของประเทศจีนที่มีเทคโนโลยีที่หลากหลาย และเป็นเจ้าของเหมืองลิเทียมในแหล่งต่างๆ ในโลก เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 17% ด้วย