ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 6 พันลบ."บ. ดีแทค ไตรเน็ต"ที่ระดับ "AA+/Negative"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 24, 2017 11:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ที่ระดับ “AA+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ “ลบ" พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “AA+" โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้เงินกู้ยืม รวมทั้งใช้ในการลงทุน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทในฐานะที่เป็นบริษัทย่อยรายสำคัญของ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือ ดีแทค (อันดับเครดิต “AA+/Negative") ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ในประเทศไทย การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงแนวโน้มการเติบโตที่ดีของอุปสงค์การใช้บริการด้านข้อมูลด้วย โดยที่อันดับเครดิตมีปัจจัยเสริมจากการที่บริษัทได้รับการสนับสนุนจาก Telenor ASA (Telenor) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักของ DTAC

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงจากอุตสาหกรรมสื่อสารแบบไร้สายที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง รวมถึงจากผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงของบริษัทแม่ และการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อขยายโครงข่ายทั่วประเทศ

อันดับเครดิตของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต สะท้อนสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของ DTAC โดยพิจารณาจากทั้งการสร้างรายได้และกำไร รวมถึงฐานลูกค้า และบทบาทในการสร้างรายได้บนโครงข่ายภายใต้ใบอนุญาต

บริษัท ดีแทค ไตรเน็ตก่อตั้งในปี 2549 โดยเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย DTAC ในเดือนธันวาคม 2555 บริษัทได้รับใบอนุญาตอายุ 15 ปีในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ทซ์ (Gigahertz -- GHz) ด้วยเทคโนโลยี 3G (Third Generation) และ 4G LTE (Long Term Evolution) บริษัทมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับบริษัทแม่ โดยบริษัทแม่มีส่วนควบคุมการดำเนินงานของบริษัทอย่างเต็มที่ผ่านช่องทางการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังใช้ทรัพยากรและอุปกรณ์โครงข่ายร่วมกันกับบริษัทแม่ในการให้บริการแก่ลูกค้าด้วย

บริษัทมีรายได้ในปี 2559 รวม 66,069 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากปี 2558 หรือคิดเป็นสัดส่วน 80% ของรายได้รวมของบริษัทแม่และมีรายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (Interconnection Charges -- IC) อยู่ที่ 58,720 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 91% ของรายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายของบริษัทแม่ นอกจากนี้ บริษัทยังสร้างกำไรคิดเป็นประมาณ 50% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทแม่อีกด้วย

การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทและโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ครอบคลุมด้วยเช่นกัน ณ เดือนมิถุนายน 2560 บริษัทมีลูกค้าจำนวน 22.7 ล้านรายหรือคิดเป็นประมาณ 96% ของลูกค้ารวมของบริษัทแม่ ทั้งนี้ บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 25% ของจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่าย 3G และ 4G ทั่วประเทศ บริษัทยังคงดำเนินการขยายโครงข่ายการสื่อสารแบบไร้สายให้ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ การให้บริการเทคโนโลยี 2G บนคลื่นความถี่ภายใต้ระบบสัมปทานของ DTAC จะหมดอายุลงในปี 2561 ดังนั้น จำนวนลูกค้าตลอดจนการให้บริการภายใต้บริษัทแม่จะถูกโอนย้ายไปยังโครงข่ายของบริษัททั้งหมด เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นดังกล่าวแล้ว ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่ รวมไปถึงได้รับความช่วยเหลือทางการเงินในเวลาที่จำเป็น

การสนับสนุนด้านการบริหารจัดการและเทคโนโลยีที่ Telenor มีให้แก่ DTAC เป็นปัจจัยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่อันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน โดย Telenor เป็นบริษัทที่ให้บริการด้านสื่อสารโทรคมนาคมจากประเทศนอร์เวย์และเป็นผู้ถือหุ้นหลักของ DTAC ธุรกิจในประเทศไทยถือว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ให้แก่กลุ่ม Telenor โดย DTAC ถือเป็นบริษัทที่สร้างรายได้ในระดับแนวหน้าในกลุ่มบริษัทที่ Telenor ลงทุนนอกประเทศนอร์เวย์ ความสำคัญดังกล่าวทำให้ทริสเรทติ้งคาดหวังว่า Telenor จะยังคงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ DTAC ในเวลาที่จำเป็นต่อไป

อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความต้องการในการใช้บริการข้อมูลที่เพิ่มสูงขึ้นอันสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง รวมไปถึงราคาเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ถูกลงยิ่งขึ้นอีกด้วย ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการมีสัดส่วนรายได้จากบริการข้อมูลที่สูงขึ้น

ในทางกลับกัน อันดับเครดิตของบริษัทถูกลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศ ทั้งนี้ ในสภาวะที่ตลาดค่อนข้างอิ่มตัวและมีความอ่อนไหวต่อราคา ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะแข่งขันกันด้วยกิจกรรมทางการตลาด รวมถึงราคาแพคเกจ และการสนับสนุนค่าเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อที่จะรักษาฐานลูกค้าและส่วนแบ่งทางการตลาดของตนเอาไว้ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนจำนวนมากที่บริษัทต้องใช้เพื่อลงทุนขยายโครงข่าย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการแต่ละรายยังจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูงในเทคโนโลยี 4G เพื่อขยายโครงข่ายบริการให้ครอบคลุมอันเป็นผลจากอุปสงค์ของบริการข้อมูลที่พุ่งสูงขึ้นด้วย

เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นระหว่างบริษัทและบริษัทแม่แล้ว อันดับเครดิตของบริษัทจึงมีระดับเท่ากับอันดับเครดิตของบริษัทแม่และเคลื่อนไหวตามการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตของบริษัทแม่ด้วย โดยอันดับเครดิตของ DTAC ได้รับการยืนยันที่ระดับ “AA+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative" หรือ “ลบ" ทั้งนี้ สัมปทานในการใช้คลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ทซ์และ 1800 เมกะเฮิร์ทซ์ที่จะหมดลงในเดือนกันยายน 2561 นี้ทำให้ DTAC จำเป็นจะต้องเข้าร่วมประมูลเพื่อให้ได้คลื่นความถี่ที่เพียงพอต่อการให้บริการ ซึ่งจะส่งผลให้ฐานะทางการเงินอ่อนแอลงจากการประมูลคลื่นความถี่โดยคาดว่าต้นทุนใบอนุญาตน่าจะอยู่ในระดับสูงเช่นกัน

ทริสเรทติ้งคาดว่าในการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ DTAC จะมอบหมายให้บริษัทเป็นผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งตามสมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าต้นทุนการได้มาซึ่งคลื่นความถี่ใหม่จะทำให้อัตราส่วนภาระหนี้สินของทั้งบริษัทและของบริษัทแม่เพิ่มขึ้นในระยะปานกลางได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับต้นทุนเงินลงทุนที่แท้จริงของคลื่นความถี่ใหม่ซึ่งยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายประการไม่ว่าจะเป็นจำนวนคลื่นความถี่ที่จะประมูล ระดับความรุนแรงในการแข่งขันราคาประมูล หรือแผนการบริหารคลื่นความถี่ของภาครัฐที่จะออกมา

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทในช่วงปี 2560-2562 จะขยายตัวโดยมีแรงขับเคลื่อนจากการเติบโตของบริการด้านข้อมูลแต่ก็จะได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรง คาดว่าบริษัทจะมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งสะท้อนถึงต้นทุนจากส่วนแบ่งรายได้ (Regulatory Cost) และต้นทุนบริการข้ามเครือข่ายไปยังโครงข่ายภายใต้สัมปทานของบริษัทแม่ที่จะลดลงจากการโอนย้านฐานลูกค้ามาอยู่บนโครงข่ายของบริษัท สถานะทางการเงินของบริษัทในระยะปานกลางจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นและเข้าใกล้สถานะของบริษัทแม่ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วงปี 2560-2562 จำนวนประมาณ 55,000 ล้านบาทโดยยังไม่รวมต้นทุนค่าใบอนุญาตใหม่ ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนคาดว่าน่าจะปรับสูงขึ้นมากจากต้นทุนคลื่นความถี่ใหม่ที่สูงโดยที่อัตราส่วนสภาพคล่องน่าจะลดลง

แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative" หรือ “ลบ" สะท้อนถึงแนวโน้มอันดับเครดิตของ DTAC ซึ่งเป็นบริษัทแม่ โดยในระยะปานกลางทริสเรทติ้งคาดว่าการแข่งขันในตลาดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะยังคงรุนแรงและส่งผลลบและทำให้สถานะทางการเงินของ DTAC อ่อนแอลง นอกจากนี้ ภาระหนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากต้นทุนคลื่นความถี่ใหม่และภาระในการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมจะกดดันสถานะทางการเงินของDTAC โให้อ่อนลงได้ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงใดใดที่กระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทแม่ก็จะส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทตามไปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ