บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานช่วงเดือนแรกของปี 2560 ในอัตรา 1.25 บาทต่อหุ้น คิดเป็นจำนวนเงิน 4,008 ล้านบาท โดยกำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผลในวันที่ 16 สิงหาคม 2560 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 5 กันยายน 2560 ย้ำยึดมั่นทิศทางในการดำเนินธุรกิจที่เน้นการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนให้กับการบริหารสินทรัพย์ในธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ และเทคโนโลยี (TMT) พร้อมรองรับเทรนด์การขยายตัวดิจิทัลคอนเทนท์และบริการข้อมูล
นายเอนก พนาอภิชน รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร INTUCH กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง อินทัชยังคงทิศทางการดำเนินธุรกิจด้วยการเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่สร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนในธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ และเทคโนโลยี บนหลักการดำเนินธุรกิจใน 3 ด้าน คือ การบริหารสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ การขยายธุรกิจที่มีศักยภาพ และการสร้างชื่อเสียงที่ดีให้แก่องค์กร รวมทั้งสร้างสรรค์โอกาสให้แก่ธุรกิจและประชาชนด้วยเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตอย่างต่อเนื่องตามแนวคิด Connecting Thais for Sustainable Growth ต่อไป
การลงทุนในอินเว้นท์ (InVent) ซึ่งเป็นเวนเจอร์ แคปปิตอลในเครือของอินทัชมีความก้าวหน้าต่อเนื่อง โดยในปี 2560 อินทัชได้เข้าร่วมลงทุนในบริษัทใหม่ 1 บริษัท ได้แก่ บริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด (Digio) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาและให้บริการระบบชำระเงินและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) อันดับ 1 ในประเทศ ด้วยเทคโนโลยี mPOS ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกในการชำระเงิน ทำให้ปัจจุบัน อินเว้นท์ได้ให้การสนับสนุนโดยร่วมลงทุนไปแล้วทั้งสิ้น 11 บริษัท โดยในจำนวนนี้มี 2 บริษัทที่ได้ออกจากการร่วมทุนไปแล้ว ได้แก่ บริษัท คอมพิวเตอร์โลจี จำกัด และ บริษัท ชอปสปอต โมบิลิตี้ พีทีอี ลิมิเต็ด
ไฮ ช็อปปิ้ง (High Shopping) ซึ่งเป็นบริการด้านซื้อขายสินค้าทางโทรทัศน์ที่เปิดให้บริการในปี 2559 มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจากการจำหน่ายผ่านช่องทางใหม่นอกเหนือไปจากโทรทัศน์ อาทิ แอพพลิเคชั่น และช่องทางออนไลน์ โดยมีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 6 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1 จากปี 2559 และมีการสั่งซื้อสินค้าผ่านทุกช่องทางเพิ่มขึ้นถึง 134% โดยในปี 2560 ไฮ ช็อปปิ้งคาดการณ์ว่าจะมีรายได้ 750 ล้านบาท และมีเป้าหมายที่จะเป็นหนึ่งในสามผู้ประกอบการหลักของ อุตสาหกรรมโฮมช็อปปิ้งภายในปี 2561
ในช่วงครึ่งปีแรก INTUCH มีกำไรสุทธิรวมจากการดำเนินงานปกติ 5,990 ล้านบาท ลดลงประมาณ 20% เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทย่อยและบริษัทร่วม ซึ่งเป็นส่วนแบ่งกำไรในธุรกิจโทรคมนาคมไร้สายภายในประเทศและส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจดาวเทียมและธุรกิจในต่างประเทศ
บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส มีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 5.7% จากปริมาณการใช้บริการด้านข้อมูลที่เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นบริการโมบายดาต้า หรือ บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้ EBITDA margin เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 44.2% จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายแคมเปญลดราคาค่าเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลง อย่างไรก็ดี เพื่อเพิ่มความสามารถในการให้บริการ การพัฒนาคุณภาพบริการอย่างต่อเนื่อง และรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและพื้นที่การให้บริการ เอไอเอสต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมประมาณ 40,000 ถึง 45,000 ล้านบาท
สำหรับบมจ.ไทยคม (THCOM) ในช่วงครึ่งปีแรก รายได้จากการขายและการให้บริการ ลดลงประมาณ 18% เนื่องจากลูกค้าหลักหลายรายหมดสัญญา และอุตสาหกรรมโทรทัศน์ของไทยชะลอตัว อย่างไรก็ดี ไทยคมจะมุ่งเน้นการขยายตลาดในภูมิภาคที่ยังมีศักยภาพเช่น แอฟริกา ประเทศกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง และเอเซียใต้ โดยมีการบรรลุข้อตกลงกับพันธมิตรหลายรายในหลายตลาด เพื่อสนับสนุนการให้บริการบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และบริการแพร่ภาพและเสียงผ่านแอพพลิเคชั่นบนอินเทอร์เน็ต (Over the Top – OTT)