บลจ.ยูโอบี แนะกระจายพอร์ตลงทุนพร้อมเพิ่มน้ำหนักหุ้นญี่ปุ่นรับแนวโน้มศก.โลกโต

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 25, 2017 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวขึ้นที่ 3.4% ในปี 60 และ 3.6% ในปี 61 (IMF ณ ก.ค.60) นำโดยสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นและคาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ 2.1% ในปี 60 ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นเริ่มส่งสัญญานการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่องและน่าจะขยายตัวได้ 1.9% และ 1.3% ตามลำดับ โดยญี่ปุ่นเองยังคงดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงินต่อเนื่อง เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ การส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่วนเศรษฐกิจจีนยังโตดีต่อเนื่องท่ามกลางมาตรการเข้มงวดจากภาครัฐในช่วงสองไตรมาสที่ผ่านมา (เติบโต 6.9% ในครึ่งแรกปี 60) โดยคาดว่าตลอดทั้งปีนี้จะสามารถขยายตัวได้ 6.7% จากภาคการบริโภคและส่งออกที่พลิกฟื้นดีขึ้นจากช่วงไตรมาสที่ 1

ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่โตดีขึ้นจะเป็นปัจจัยหนุนการส่งออกในทวีปเอเชียและไทย ด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะเริ่มลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป การดำเนินการที่เข้มงวดทางการเงินดังกล่าวเป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปและไม่น่าส่งผลให้เกิดการชะงักงันต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่วนธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ยังรักษาระดับดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเป็นส่วนใหญ่ และไม่มีสัญญาณที่จะปรับดอกเบี้ยขึ้นในปีนี้ภายใต้ภาวะที่เงินเฟ้อยังต่ำ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ราบรื่นมากขึ้น"

สำหรับเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลังประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ 3.5-3.6% ในปี 60 โดยเรามองว่าเศรษฐกิจปีนี้จะได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออก และการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยในช่วง 6 เดือนแรก การส่งออกของไทยเติบโตถึง 7.8% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 4.4% และมีแนวโน้มขยายตัวดีในครึ่งปีหลังจากฐานต่ำในปีก่อนหน้า การบริโภคภาคเอกชนยังรักษาระดับการเติบโตที่ 3% โดยได้อานิสงส์จากรายได้ภาคเกษตรที่ดีในช่วงต้นปี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวจากภาคอสังหาฯ การก่อสร้างโดยรวม และภาคอุตสาหกรรมที่ยังมีกำลังการผลิตเหลือค่อนข้างมาก

ภาวะการลงทุนคาดการณ์ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปี 60 จะเติบโตประมาณ 10% ซึ่งถือว่าไม่สูงนักเทียบกับค่าเฉลี่ย 14% ในอดีต การลงทุนในตลาดหุ้นไทยในระยะกลางถึงยาวน่าจะยังให้ผลตอบแทนที่ดีจาก 1) การเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น จะส่งผลให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในปี 61 2) ส่วนต่างราคา PER ที่กว้างขึ้นเทียบกับตลาดภูมิภาคดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาตลาดหุ้นไทยมากขึ้น 3) อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่า ทำให้ความเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติจะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง 4) อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรยังต่ำต่อเนื่อง ทำให้ผลตอบแทนหุ้น/พันธบัตร (equity yield gap) มีส่วนต่างที่กว้าง

นางสาวรัชดา ตั้งหะรัฐ ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด กล่าวแนะนำการลงทุนในครึ่งปีหลังว่า จากภาพรวมการลงทุนดังกล่าว ทำให้การแสวงหาโอกาสการลงทุนจะต้องใช้ความเชี่ยวชาญที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ด้วยความร่วมมือกับเครือข่ายภูมิภาคและพันธมิตรระดับสากล คัดสรรการลงทุนที่สามารถลดความผันผวนได้ด้วยการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่หลากหลายทั่วโลก ทำให้มีความยืดหยุ่นในการปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมในทุกสภาวะตลาด นอกจากนี้ยังมีมุมมองที่ดีต่อการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหุ้นญี่ปุ่นที่มีขนาดกลางและเล็กที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจในภาวะตลาดปัจจุบัน

เพื่อครอบคลุมโอกาสการลงทุนที่ได้รับผลบวกจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว จึงได้คัดสรร 4 กองทุนดังนี้ 1) กองทุนเปิด ยูไนเต็ด อินคัม เดลี่ อัลตร้า พลัส ฟันด์ (UIDPLUS) ระดับความเสี่ยงกองทุน 4 เน้นลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นทั้งในและต่างประเทศและสามารถซื้อ-ขายได้ทุกวันทำการ สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในระยะยาวและรับความเสี่ยงได้จากการลงทุนไปยังสินทรัพย์ทั่วโลกได้ แนะนำ 2) กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล อินคัม สตราทีจิค บอนด์ ฟันด์ (UGIS) ระดับความเสี่ยงกองทุน 5 เน้นกระจายการลงทุนไปในตราสารหนี้ทั่วโลกผ่านกองทุนหลัก คือ PIMCO GIS Income Fund

3) กองทุนเปิด ยูไนเต็ด อินคัม โฟกัส ฟันด์ (UIF) ระดับความเสี่ยงกองทุน 5 ที่เน้นลงทุนในหลายสินทรัพย์พร้อมกับใช้กลยุทธ์ “all- weather strategy" ที่ให้ความสำคัญในการบริหารความผันผวนด้วยการกระจายและปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับแต่ละสถานการณ์ เพื่อให้พอร์ตมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้อย่างสม่ำเสมอ โดยลงทุนผ่านกองทุนหลักคือ UNITED GLOBAL DIVERSIFIED – United Income Focus Trust Class USD Dist 4) กองทุนเปิด ยูโอบี สมาร์ท เจแปน สมอล แอนด์ มิด แคป ฟันด์ (UOBSJSM) ระดับความเสี่ยงกองทุน 6 เน้นลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นที่มีขนาดกลางและเล็กที่ได้รับปัจจัยสนันสนุนการเติบโตจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

โดย 4 กองทุนดังกล่าว บลจ.ยูโอบีเชื่อว่าสามารถตอบโจทย์การลงทุนที่สอดคล้องกับภาวะตลาดปัจจุบันได้ เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่เหมาะสมและสม่ำเสมอในระยะกลางถึงยาว

นอกจากนี้สำหรับกองทุนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแนะนำ 5) กองทุนเปิด บรรษัทภิบาล หุ้นระยะยาว (CG-LTF) และ 6) กองทุนเปิด บรรษัทภิบาล เพื่อการเลี้ยงชีพ (CG-RMF) ทั้งสองกองทุนมีระดับความเสี่ยงกองทุน 6 เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มที่ได้รับจัดอยู่ในเกณฑ์ธรรมาธิบาลที่ดี (CG Scoring) ซึ่งเราเชื่อว่าหุ้นที่มีหลักธรรมาภิบาลสามารถโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ