AOT เผย 10 เดือนงวดปี 60 สนามบินหาดใหญ่มีผู่โดยสารโต 13.3% ,เร่งขยายด่วนคาดปี 62 เพิ่มเป็น 4.5 ล้านคน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 28, 2017 17:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นาวาอากาศตรี มณธนิก รักงาม ผู้อำนวยการท่าอากาศยานหาดใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.เปิดเผยว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) ได้ดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 30 มีเที่ยวบินเฉลี่ย 80 เที่ยวบินต่อวัน มีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ย 13,000 คนต่อวัน และมีสายการบินให้บริการ 7 สายการบิน โดยปริมาณการจราจรทางอากาศรอบ 10 เดือนของปีงบประมาณ 2560 (เดือน ต.ค.59-ก.ค.60) มีเที่ยวบิน 25,517 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 15.59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีผู้โดยสาร 3,640,753 คน เพิ่มขึ้น 13.30% ปริมาณสินค้า 7,555 ตัน ลดลง 5.02% และปริมาณไปรษณียภัณฑ์เข้า - ออก 2,431 ตัน เพิ่มขึ้น 2.31%

"ปริมาณการจราจรทางอากาศในภาพรวมเติบโตได้ดี โดยเฉพาะปริมาณการจราจรที่มาจากสายการบินต้นทุนต่ำที่มีการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องทำให้สามารถตอบสนองความต้องการการเดินทางของกลุ่มคนได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล และการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น"

ทอท.ได้กำหนดบทบาททางยุทธศาสตร์ (Strategic Positioning) ให้ ทหญ. เป็นประตูสู่ใต้สุดของไทย หรือ Gateway to Southern-most Thailand เพื่อเป็นจุดเชื่อมหลักสู่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล นราธิวาส ยะลา และปัตตานี รวมถึงประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ ปัจจุบัน ทหญ. มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 2.5 ล้านคนต่อปี โดยเมื่อปีงบประมาณ 2559 ทหญ. มีผู้โดยสารเดินทางผ่าน 3.9 ล้านคน ซึ่งเกินขีดความสามารถของ ทหญ. ส่งผลให้เกิดความแออัดในการให้บริการ

รวมทั้ง ทอท. ได้คาดการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศในอนาคต โดยคาดว่าในปี 62 ทหญ. จะมีปริมาณผู้โดยสาร 4.5 ล้านคน มีเที่ยวบิน 31,087 เที่ยวบิน ในปี 67 คาดว่า ทหญ. จะมีปริมาณผู้โดยสาร 5.90 ล้านคน และมีเที่ยวบิน 41,308 เที่ยวบิน และปี 77 จะมีปริมาณผู้โดยสาร 9.1 ล้านคน และมีปริมาณเที่ยวบิน 64,020 เที่ยวบิน

นาวาอากาศตรี มณธนิก กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร และเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น ทหญ. มีโครงการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก ณ ทหญ. เช่น การติดตั้งลิฟท์สำหรับ ผู้พิการ เป็นต้น ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน (ปี 59-62) โดยจะมีการก่อสร้างอาคารสำนักงาน ทหญ. การปรับปรุงขยายห้องโถงผู้โดยสาร และ ปรับปรุงชานชาลาจอดรถรับ - ส่งผู้โดยสาร การขยายพื้นที่และเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร โดยเพิ่มเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสารฝั่งตะวันออก 18 เคาน์เตอร์ และฝั่งตะวันตก 17 เคาน์เตอร์ การปรับปรุงลานจอดอากาศยาน จากเดิม 7 หลุมจอด เพิ่มเป็น 9 หลุมจอด การปรับปรุงทางวิ่งทางขับ และลานจอดอากาศยาน การติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างตามแนวรั้ว ทหญ. และการติดตั้งระบบสัญญาณป้องกันผู้บุกรุก ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 62

สำหรับการพัฒนา ทหญ. ในระยะยาว ทอท. มีแผนแม่บทการพัฒนา ทหญ. แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างระหว่างปี 63-68 ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการรองรับเที่ยวบินจากเดิม 12 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 24 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เพิ่มหลุมจอดอากาศยานจากเดิม 7 หลุมจอด เป็น 18 หลุมจอด ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 6 ล้านคนต่อปี ก่อสร้างอาคารจอดรถที่สามารถรองรับรถยนต์ได้เป็น 2,800 คัน และการก่อสร้างอาคารคลังสินค้า มีพื้นที่ 1,800 ตารางเมตร ส่วนระยะที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างระหว่างปี 69-73 ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการรองรับเที่ยวบินจากเดิม 24 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 30 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เพิ่มหลุมจอดอากาศยานจากเดิม 18 หลุมจอด เป็น 25 หลุมจอด ขยายอาคารผู้โดยสารที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 6 ล้านคนต่อปี เป็น 10 ล้านคนต่อปี ขยายอาคารจอดรถ ที่สามารถรองรับรถยนต์จากเดิม 2,800 คัน เป็น 3,500 คัน

นอกเหนือจากการพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารแล้ว ทหญ. ยังได้ตระหนักและปฏิบัติตามขั้นตอนการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดตามแนวทางรักษาความปลอดภัยที่รัฐกำหนดและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล (ตามมาตรฐานของ ICAO) เนื่องจาก ทหญ.ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านการรักษาความปลอดภัย โดยมีการตรวจสอบยานพาหนะทุกคันที่ผ่านเข้า – ออกพื้นที่ของ ทหญ. การตรวจค้นบุคคลและสิ่งของก่อนเข้าอาคารผู้โดยสาร การตรวจตระเวนพื้นที่ภายในและภายนอกโดยชุดตรวจผสม ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทำลายวัตถุระเบิด สุนัขทหาร เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร ผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้ที่มาใช้บริการที่ท่าอากาศยาน