นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) กล่าวว่า บริษัทเตรียมที่จะใช้เงินลงทุนราว 10 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นระยะเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 61 เพื่อดำเนินโครงการ "IRPC 4.0" พัฒนาระบบดิจิตอลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและลดขั้นตอนกระบวนการดำเนินงานระบบภายในให้เร็วขึ้น โดยคาดหวังจะสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย และภาษี (EBIT) ได้ราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี
"แผนยุทธศาสตร์ที่เราจะเริ่มทำเพื่อรองรับ Thailand 4.0 จะเริ่มต้นในปีหน้า จากปัจจุบันที่เรามีโครงการ EVEREST ซึ่งจะจบในสิ้นปีนี้ เราก็จะต่อยอดเป็น IRPC 4.0 เอาระบบดิจิตอลมาต่อยอดและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สร้างผลตอบแทนให้กับเรามากขึ้น อย่างโครงการ EVEREST ที่จะสิ้นสุดลงสร้าง EBIT ให้เรา 300 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี IRPC 4.0 ก็คาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้เราราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี"นายสุกฤตย์ กล่าว
นายสุกฤตย์ ยืนยันว่าแม้บริษัทจะนำระบบดิจิตอลเข้ามารองรับการทำงานมากขึ้น แต่ก็จะไม่มีการปลดพนักงานที่มีอยู่กว่า 5,000 คนออก เพียงแต่ระบบดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ขณะที่พนักงานส่วนที่เหลือก็จะสามารถโยกย้ายไปทำงานด้านอื่นที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทได้มากขึ้น
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/60 นั้นบริษัทมั่นใจว่ากำไรจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ที่ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันจะสูงกว่าระดับ 13.58 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 2/60 เป็นผลจากธุรกิจโรงกลั่นมีผลการดำเนินงานดีมากจากค่าการกลั่น (GRM) สูง หลังจากส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์น้ำมันเบนซินสูงถึง 17-18 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่สเปรดของน้ำมันดีเซล,น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันเตาก็อยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน
นอกจากนี้พายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ บริเวณอ่าวเม็กซิโก ก็ทำให้โรงกลั่นน้ำมันบริเวณดังกล่าวต้องปิดทำการชั่วคราว ส่วนธุรกิจปิโตรเคมี ในด้านสเปรดผลิตภัณฑ์นั้นยังทรงตัว
อนึ่ง วันนี้ IRPC ได้ร่วมลงนามข้อตกลงร่วมกับสถาบันสิรินธรฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และมหาวิทยาลัยศรีปทุม ในการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ “โครงการพัฒนาชุดหุ่นยนต์ช่วยเดิน สำหรับคนพิการอัมพาตครึ่งล่าง" เพื่อต่อยอดสู่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรม สร้างโอกาสให้ผู้พิการได้ใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง โดย IRPC จะเป็นผู้สนับสนุนในส่วนของวัสดุอุปกรณ์ โดยเฉพาะเม็ดพลาสติกชนิด UHMWPE (Ultra high molecular weight Polyethylene) ที่มีคุณสมบัติด้านความแข็งแรงเป็นพิเศษ ทนทานต่อการสึกกร่อนเสียดสี รองรับแรงกระแทกได้ดี และน้ำหนักเบา จึงสามารถนำไปผลิตทดแทนชิ้นส่วนเดิมของหุ่นยนต์ช่วยเดินได้
โดยต้นแบบหุ่นยนต์ช่วยเดินในปัจจุบันมีชุดขับเคลื่อนมีขนาดใหญ่ โครงสร้างทำจากอลูมิเนียม ทำให้มีน้ำหนักมากถึง 25 กิโลกรัม ประกอบกับแบตเตอรี่ใช้งานสั้นไม่เกิน 3 ชั่วโมง ล้วนเป็นอุปสรรคให้ผู้พิการไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ หากการวิจัยและพัฒนาสำเร็จ และต่อยอดไปสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม ก็จะช่วยให้กลุ่มผู้พิการได้ใช้ประโยชน์และเข้าถึงนวัตกรรมหุ่นยนต์นี้มากขึ้น
นายสุกฤตย์ กล่าวว่า เบื้องต้นทีมงานวิจัยมีเป้าหมายจะลดน้ำหนักของชุดหุ่นยนต์ช่วยเดินให้เหลือ 15 กิโลกรัม และคาดว่าจะเริ่มพัฒนาในโครงการเฟสแรกได้อีก 1 ปีข้างหน้าหากพัฒนาได้รูปแบบเหมาะสมแล้ว ก็จะพิจารณาต่อยอดเพื่อผลิตในเชิงอุตสาหกรรมต่อไป
สำหรับผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก UHMWPE นั้นบริษัทมีกำลังการผลิตราว 2 หมื่นตัน/ปี แต่ปัจจุบันผลิตอยู่ที่ระดับ 700 ตัน/ปี ซึ่งรองรับกับความต้องการใช้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ต้องมีน้ำหนักเบาและมีความแข็งแรงทนทาน เช่น แบตเตอรี่ ,เฟือง และในอนาคตก็มีอยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนาสำหรับเสื้อเกราะได้ ขณะที่ราคาของเม็ดพลาสติก UHMWPE มีราคาสูงกว่าเม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีน (PP) ทั่วไปราว 30%