(เพิ่มเติม) ARROW ทุ่ม 40 ลบ.ซื้อเครื่องจักรขยายกำลังผลิตท่อร้อยสายไฟ-แตกไลน์ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 31, 2017 12:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธานินทร์ ตันประวัติ กรรมการผู้จัดการ บมจ.แอร์โรว์ ซินดิเคท (ARROW) เปิดเผยว่า บริษัทได้ทุ่มงบลงทุนประมาณ 40 ล้านบาทเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ แบ่งเป็น 10 ล้านบาท ซื้อเครื่องจักรผลิตท่อร้อยสายไฟฟ้าเพิ่มอีก 1 เครื่อง จากปัจจุบันมี 4 สายการผลิต เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีก 20% รองรับความต้องการของตลาดท่อร้อยสายไฟที่มีแนวโน้มขยายตัวในทิศทางที่ดี โดยจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ในเดือน ก.ย.นี้

"จากแนวโน้มธุรกิจท่อร้อยสายไฟที่ยังเติบโตอยู่ในทิศทางที่ดี บริษัทจึงได้ลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนของท่อร้อยสายไฟให้เพียงพอและรองรับคำสั่งซื้อได้มากขึ้น ที่สำคัญเครื่องจักรนี้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ด้วย"นายธานินทร์ กล่าว

นายธานินทร์ กล่าวว่า ส่วนเงินลงทุนอีก 30 ล้านบาท บริษัทจะนำไปซื้อเครื่องจักรผลิตอุปกรณ์ก่อสร้างในระบบ Post tension เพื่อรองรับการฟื้นตัวของธุรกิจก่อสร้างในอนาคต ซึ่งเครื่องจักรนี้จะมีกำลังการผลิต 150 ตันต่อเดือน และคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้เข้ามาในไตรมาส 4/60

"เครื่องจักรผลิตอุปกรณ์ก่อสร้างในระบบ Post tension ถือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของกลุ่มบริษัทที่จะเข้ามาช่วยซับพอร์ตธุรกิจเดิมที่บริษัทดำเนินการอยู่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ Set Up เครื่องจักร คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ และจะรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/60"นายธานินทร์ กล่าว

สำหรับภาพรวมธุรกิจไตรมาสที่เหลือปีนี้ บริษัทเชื่อว่าจะยังคงทำผลงานขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจจากงานรับเหมาก่อสร้างที่ยังเติบโต อีกทั้งทยอยรับรู้รายได้จากงานในมือ (Backlog) ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 770 ล้านบาท ประกอบกับคาดว่าจะมีงานใหม่ ๆ ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนทิศทางราคาเหล็กที่ปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นปีนั้น และต่อเนื่องอีกราว 15% นั้น ซึ่งบริษัทยืนยันว่าไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด เนื่องจากเมื่อได้รับคำสั่งซื้อใหม่เข้ามา บริษัทก็จะสต็อกเหล็กไว้รองรับการผลิตเรียบร้อยแล้ว และสต็อกไว้รองรับกับคำสั่งซื้อใหม่ที่จะเข้ามาเพิ่มเติมด้วย โดยขณะนี้ได้สต็อกเหล็กไว้กว่า 3,500 ตันนับว่าเพียงพอแล้ว

ขณะที่บริษัทมีแผนจะขยายกำลังการผลิตท่อร้อยสายไฟลงดินอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 700,000-1,000,000 เมตรต่อปี จากปัจจุบันที่ราว 200,000-300,000 เมตรต่อปี เนื่องจากอนาคตจะมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น โดยจะเห็นได้จากโครงการนำสายสื่อสารลงดิน เส้นทางถนนพหลโยธิน ตั้งแต่ถนนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ห้าแยกลาดพร้าว ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอความชัดเจนจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในเร็ว ๆ นี้

นายธานินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัท เมฆา-เอส ที่เป็นบริษัทย่อย ถือหุ้นอยู่ 65% และประกอบธุรกิจรับเหมาติดตั้งงานระบบในอาคารนั้น ยังคงเป้าหมายรายได้ในปีนี้ที่ระดับ 300 ล้านบาท เติบโตจากระดับ 150 ล้านบาทในปีก่อน แม้ว่าช่วงครึ่งแรกปีนี้จะทำรายได้เพียง 60-70 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลังเป็นช่วงไฮซีซั่น ที่มีการส่งมอบงานค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันก็จะมีงานใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้บริษัทยังมีนโยบายให้เมฆา-เอส ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Smart Solution รวมถึง Internet of Thing (IoT) เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ประเทศเข้าสู่ Thailand 4.0 โดยขณะนี้เมฆา-เอส ก็เริ่มพัฒนาซอฟท์แวร์ ที่เป็นโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับระบบบัญชีแล้ว ทั้งนี้ช่วงเดือน ส.ค. ที่ผ่านมานั้นทางบริษัทได้เข้าถือหุ้น 70% ใน บริษัท คูดอส สมาร์ท อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งทำธุรกิจออกแบบพัฒนา เทคโนโลยี ซอฟท์แวร์ และคอมพิวเตอร์ จึงสามารถเกื้อหนุนธุรกิจหลักได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ขณะที่ผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 100.20 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 688.76 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 10.94% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวม 620.83 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจ ทำให้มั่นใจว่ารายได้รวมปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10-20% ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นจะรักษาให้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 25-30%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ