นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า กลุ่มธุรกิจ SME ขนาดกลางและขนาดเล็กของ BAY มีอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่สูงถึง 7.6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 60 และคาดว่าน่าจะยังคงเติบโตต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ด้วยปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจไทย และทั้งปีมีโอกาสที่สินเชื่อ SME จะเติบโตได้ทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ 6.8% หลังจากที่ครึ่งปีแรกขยายตัวเกินเป้าไปแล้ว
โดยในช่วงไตรมาส 3/60 เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการจ้างงานในภาคบริการและภาคการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการเติบโตต่อผู้ประกอบการ SME
อีกทั้งความเชื่อมั่นของลูกค้า SME ในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า จากที่ธนาคารได้สอบถามลูกค้าพบว่าลูกค้ายังมีความมั่นใจว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคและการจับจ่ายใช้สอยในประเทศจะฟื้นตัวดีและคึกคักมากขึ้น ส่งผลให้ลูกค้ามีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นเพื่อมาลงทุนเตรียมพร้อมรองรับแนวโน้มที่ดีในอนาคต "จากที่เราสอบถามลูกค้าทุกคนมองเป็นทิศทางเดียวกันในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า ภาพรวมยังเป็นทิศทางเดียวกัน โดยกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยจะกลับมาดีขึ้น ทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจมากขึ้น และมีความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อลงทุนรองรับไว้ ทำให้โมเมนตัมในครึ่งปีหลังยังดีขึ้นต่อเนื่องต่อจากครึ่งปีแรก และทำให้สินเชื่อ SME ในปีนี้มีโอกาสทะลุเป้าโต 6.8% ส่วนจะปรับเป้าหมายเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็จะมีการพิจารณาในช่วงไตรมาส 3 นี้อีกที"นายสยาม กล่าว
ส่วนสัดส่วนสินเชื่อของลูกค้า SME ของธนาคารในปัจจุบันอยู่ที่ 15% ของพอร์ตรวมทั้งหมด โดยมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.65 แสน เติบโต 7.6% จากสิ้นปีก่อนที่ 1.53 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นยอดสินเชื่อคงค้างของลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่มียอดขาย 20-150 ล้านบาท/ปี อยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้างของลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดกลางที่มียอดขาย 150-1,000 ล้านบาท/ปี อยู่ที่ 9.8 หมื่นล้านบาท
ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของ SME ในปีนี้จะควบคุมให้อยู่ในระดับ 4.2% ใกล้เคียงกับครึ่งปีแรกที่ระดับเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่า NPL ของ SME ในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 4.4% ซึ่งคุณภาพหนี้ของลูกค้า SME ของกรุงศรียังถือว่ามีคุณภาพที่ดี และยังไม่พบปัญหาเรื่องหนี้เสียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่สร้างความกังวลให้กับธนาคาร โดยธนาคารได้ให้คำปรึกษากับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และคอยช่วยเหลือลูกค้าตลอดเวลา
นายสยาม กล่าวว่า ในครึ่งหลังของปี 60 ธนาคารยังเน้นต่อยอดความเติบโตด้านธุรกิจลูกค้า SME อย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ในการช่วยลูกค้าขยายโอกาสทางธุรกิจ ทั้งด้านเงินทุนหมุนเวียน สินเชื่อเพื่อการค้าต่างประเทศ บริการ Supply Chain Solution ที่มุ่งพัฒนาการให้บริการธุรกรรมภายในประเทศที่เพิ่มศักยภาพธุรกิจ ด้วยระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย (Electronic Invoice Presentment and Payment - EIPP) รวมทั้งการให้บริการธุรกรรมระหว่างประเทศ ที่ช่วยลดระยะเวลาและต้นทุน ด้วยระบบโอนเงินผ่าน Blockchain’s Interledger เพื่อให้กรุงศรีเป็นธนาคารหลักของลูกค้าในการทำธุรกรรมทางการเงินสำหรับลูกค้าธุรกิจ SME ได้อย่างแข็งแกร่งและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ SME ได้อย่างครบถ้วน
ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เมื่อเทียบจากเดือน ธ.ค.59 ธนาคารได้ขยายฐานลูกค้าและพอร์ตสินเชื่อ SME อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก มียอดสินเชื่อเติบโต 7.6% สำหรับเงินฝากต้นทุนต่ำ (Low-cost CASA) ของธุรกิจ SME นั้นมีอัตราเติบโตที่ 7% ในขณะที่สินเชื่อเพื่อการค้าต่างประเทศ (Trade finance) ขยายตัวถึง 17% และ Supply Chain มียอดตั้งวงเงินสะสมเติบโต 20% และยอดสินเชื่อเติบโต 17%
“กรุงศรียังให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์พัฒนาระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ National e-Payment ด้วยการให้บริการ PromptPay สำหรับภาคธุรกิจ โดยเน้นเพิ่มการทำธุรกรรมของลูกค้ากลุ่ม SME ผ่านระบบการชำระเงินแบอิเล็กทรอนิกส์ และการนำเทคโนโลยีใหม่เพื่อสนับสนุนการให้บริการทางการเงินภายใต้กรอบ Regulatory Sandbox โดยกรุงศรีนับเป็นธนาคารแรกของไทยที่จะนำเทคโนโลยี Blockchain’s Interledger มาใช้เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการโอนเงินระหว่างประเทศแบบ Real Time สำหรับภาคธุรกิจ
นอกจากนี้ ลูกค้าธุรกิจ SME ของธนาคารจะได้รับประโยชน์จากศักยภาพอันโดดเด่นอันเกิดจากการผสานความร่วมมือกับ MUFG ที่มีเครือข่ายทุกภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งจะนำมาซึ่งโอกาสให้ลูกค้าสามารถขยายธุรกิจอย่างไร้พรมแดน ทั้งนี้ กรุงศรีมุ่งสู่การเป็นธนาคารหลักของลูกค้าด้านสินเชื่อในการให้บริการอย่างครบวงจรและเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ รวมถึงการจัดกิจกรรมให้ความรู้ งานสัมมนา Business Forum กิจกรรมจับคู่ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยมีแผนที่จะนำผู้ประกอบการศึกษาดูงาน Life Care Business Opportunity ที่กรุงโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นในต้นเดือนกันยายนนี้"นายสยาม กล่าว