บมจ.ส.กิจชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ (SKN) คาดว่าจะสรุปราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ในวันที่ 12 ก.ย. และจะเปิดจองซื้อในช่วงวันที่ 15 ก.ย. โดยคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ในช่วงปลายเดือนก.ย.นี้
นายทวีชัย ตั้งธนทรัพย์ หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.ทิสโก้ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ของ SKN กล่าวว่า เบื้องต้นคาดว่าการกำหนดราคาจากการสำรวจความต้องการซื้อของนักลงทุนสถาบัน (Book Building) จะแล้วเสร็จในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นจะสามารถกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO โดยในช่วงที่ผ่านมา SKN ได้เดินสายโรดโชว์ให้ข้อมูลนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไป เพื่อแนะนำธุรกิจให้เป็นที่รู้จักและสร้างความเชื่อมั่น
โดยได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องของภาพรวมการเติบโตของอุตสาหกรรม ความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึงอัตรากำไรที่โดดเด่น จากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัท ความเชี่ยวชาญของทีมผู้บริหารที่อยู่ในแวดวงธุรกิจไม้แปรรูปมานานกว่า 30 ปี ที่ตั้งของโรงงานอยู่ใน จ.ระยอง ซึ่งใกล้แหล่งปลูกไม้ยางพาราซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตและใกล้ท่าเรือขนส่งสินค้าน้ำลึกที่แหลมฉบังและมาบตาพุด ทำให้บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนการขนส่งได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบัน SKN เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกแผ่นไม้เอ็มดีเอฟรายใหญ่ของประเทศ ด้วยกำลังการผลิตในปัจจุบันอยู่ที่ 240,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี และอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 500,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี แล้วเสร็จในไตรมาส 3/61 ก็จะสนับสนุนให้บริษัทกลายเป็นผู้ส่งออกชั้นนำของประเทศ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ขยายตลาด และรับรู้คำสั่งซื้อสินค้าที่เข้ามาได้เพิ่มขึ้น
ด้านนายวิชัย แสงวงศ์กิจ กรรมการผู้จัดการ ของ SKN กล่าวว่า บริษัทจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท คิดเป็น 25% ของหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ ตามแผนการเข้าจดทะเบียนในSET ภายในไตรมาส 3/60 โดยเงินที่ได้จากการระดมทุน จะนำไปใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาว และลงทุนขยายสายการผลิตใหม่ในพื้นที่โรงงานเดิมที่เตรียมไว้แล้วเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 500,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี ซึ่งคาดว่าต้องใช้เงินลงทุนราว 1.4 พันล้านบาท ส่วนเงินที่ได้จากการระดมทุนอีกส่วนหนึ่งจะใช้คืนหนี้เงินกู้ยืมที่มีอยู่ 600 ล้านบาท โดยจะมีการชำระจำนวนเท่าใดนั้นจะขอพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 1 เท่า
ปัจจุบันมีอัตราการใช้กำลังผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 89% ของกำลังการผลิตสูงสุด และมีปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระหว่างปี 57-59 โดยอยู่ที่ 171,175 ลูกบาศก์เมตร , 197,532 ลูกบาศก์เมตร และ 199,658 ลูกบาศก์เมตรตามลำดับ ขณะที่ภาพรวมความต้องการแผ่นไม้เอ็มดีเอฟในตลาดโลก ยังคงได้รับความนิยมในอุตสาหกรรมผลิตเฟอร์นิเจอร์และก่อสร้าง มีอัตราการเติบโตของปริมาณการใช้เฉลี่ย (ปี 43–58) อยู่ในระดับสูงที่ 11.2% ต่อปี และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกแผ่นไม้เอ็มดีเอฟเป็นลำดับที่ 4 และมูลค่าการส่งออกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (ปี 55–58) ประมาณ 13.4% ช่วยตอกย้ำทิศทางการเติบโตและโอกาสของธุรกิจในปัจจุบันและอนาคตได้เป็นอย่างดี
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก หลังปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักร ทำให้บริษัทมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูงขึ้นถึง 90% โดยปัจจุบันบริษัทมีรายได้หลักมาจากการขายไม้เอ็มดีเอฟ โดยรายได้รับเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ 90% เพราะส่วนใหญ่ลูกค้ามาจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย และตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตามบริษัทก็ยังได้ทำการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินตามสัดส่วนของมาร์จิ้นในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ประมาณ 30%
สำหรับผลประกอบการงวดไตรมาสที่ 2/60 บริษัทมีรายได้จากการขาย 414.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.37% จากงวดเดียวกันของปีและมีกำไรสำหรับงวดเท่ากับ 71.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน มีสาเหตุหลักมาจากปริมาณการขายสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ บริษัทได้มีการหยุดการผลิตเป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อซ่อมบำรุงสายการผลิตตามแผนงานในไตรมาสที่ 1/60 ที่ผ่านมา ซึ่งช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น สนับสนุนให้ในไตรมาส 2/60 สามารถใช้กำลังการผลิตขึ้นไปแตะสูงสุดที่ระดับประมาณ 90% รองรับคำสั่งซื้อที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง