น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานคณะกรรมการกำกับ ดูแลตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 (สัญญาทรู) เปิดเผยภายหลังประชุมหารือเตรียมความพร้อมรองรับการให้บริการตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมายในเขตโทรศัพท์นครหลวงที่จะสิ้นสุดลง ระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.ทีโอที รับดำเนินการต่อวันที่ 29 ต.ค.60 เพื่อให้ผู้ใช้บริการหรือลูกค้ามั่นใจว่าการให้บริการจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องโดยมิให้มีผลกระทบต่อลูกค้าผู้ใช้บริการ ซึ่งจากการประชุมร่วมกันครั้งนี้ คณะกรรมการกำกับดูแลตามมาตรา 43 มั่นใจว่าผู้ใช้บริการหรือลูกค้าประชาชนจะสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยทั้ง ทีโอที และทรู พร้อมที่จะร่วมมือกันโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชนโดยเฉพาะผู้ใช้บริการหรือลูกค้าเป็นสำคัญ
ในการประชุมได้พิจารณาหารือร่วมกันเกี่ยวกับแผนการ มาตรการและการดำเนินการรวมถึงระบบสนับสนุนการให้บริการต่าง ๆ ของทั้ง 2 หน่วยงาน อาทิ การส่งมอบระบบข้อมูลลูกค้า และอุปกรณ์โครงข่ายตามสัญญาร่วมการงานฯ เพื่อให้สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องและทันที รวมถึงการเตรียมพร้อมให้บริการต่อเนื่องที่จะต้องเป็นไปตามแผนการให้บริการต่อเนื่องหลังสิ้นสุดสัญญาที่ ทีโอที เสนอ กสทช. เพื่อให้บริการโทรศัพท์ประจำที่สมบูรณ์พร้อมให้บริการยิ่งขึ้นกับผู้ใช้บริการหรือลูกค้าประชาชนได้ใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการหารือถึงแผนกระบวนการขั้นตอนในการส่งและรับมอบคืนทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญา
นายอนุรุต อุทัยรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจโทรศัพท์ประจำที่และบรอดแบนด์ ทีโอที กล่าวว่า ทางทรู มีลูกค้าโทรศัพท์ประจำที่มีจำนวนกว่า 9 แสนเลขหมายในขณะนี้ โดยมีอัตรายกเลิกใช้บริการ 7%ต่อปี โดยทีโอทีมีแผนตรวจรับงานให้เสร็จโดยเร็ว โดยมีระยะเวลา 3 เดือนนับจากวันที่ 29 ต.ค.60 โดยทีโอทีจะรับมาบริหารเองไม่จ้างทรูดำเนินงานต่อ เนื่องจากทีโอทีมีพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญโทรศัพท์ประจำที่อยู่จำนวนมาก
อย่างไรก็ดี ทรูได้ส่งมอบสนับสนุน ได้แก่ ระบบข้อมูลลูกค้า ที่มีประวัติลูกค้าอยู่ ทั้งค่าบริการคงค้าง การใช้โปรโมชั่น โดยระบบนี้ใช้มา 20 กว่าปีแล้ว
ด้านนายอดิศักดิ์ ประสงค์ทรัพย์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านปฏิบัติการโครงข่าย TRUE กล่าวว่า จากการที่คืนสัญญาสัมปทานให้ทีโอที จะกระทบรายได้ของบริษัทประมาณ 3 พันกว่าล้านบาท ถือว่ารายได้ไม่ค่อยมาก เพราะปัจจุบัน TRUE มีธุรกิจหลักได้แก่ ทรูมูฟ เอช (โมบาย) ทรูออนไลน์(บรอดแบนด์) และ ทรูวิชั่นส์ โดยโทรศัพท์ประจำที่หรือ โทรศัพท์บ้านคนไม่ค่อยใช้แล้วหันมาใช้มือถือกันมากกว่า หรือใช้โทรคุยผ่านอินเตอร์เน็ต