ฟิทช์ ชี้การให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 5, 2017 15:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ มองว่ากลยุทธ์ของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไทย ในการลดการให้ส่วนลดค่าเครื่อง (Handset Subsidies) อย่างต่อเนื่อง น่าจะช่วยทำให้ผู้ประกอบการมีผลประกอบการที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่ารายได้ของผู้ประกอบการอาจจะเติบโตในอัตราที่ช้าลงในระยะสั้นเนื่องจากผู้ใช้บริการที่เน้นราคาอาจย้ายไปยังคู่แข่ง ฟิทช์เชื่อว่าผลกระทบดังกล่าวน่าจะถูกชดเชยด้วยค่าใช้จ่ายในการหาลูกค้าใหม่และรักษาลูกค้าเดิมที่ลดลง นอกจากนี้การแข่งขันน่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเน้นการลงทุนในโครงข่ายและพัฒนาคุณภาพการให้บริการ เพื่อชักจูงลูกค้าใหม่และรักษาลูกค้าเดิม

กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS (มีอันดับเครดิตที่ BBB+/AA+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC (มีอันดับเครดิตที่ BBB/AA(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ปรับตัวลดลงในปี 2559 เนื่องจากการให้ส่วนลดค่าเครื่องกลายเป็นกลยุทธ์ในการแข่งขันของผู้ประกอบการทุกราย อย่างไรก็ตาม AIS และ DTAC ได้ลดการให้ส่วนลดค่าเครื่องตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2559 และตั้งแต่ครึ่งปีแรกของปี 2560 AIS และ DTAC ได้ให้ส่วนลดค่าเครื่องเฉพาะลูกค้าในระบบรายเดือนเพื่อชักจูงลูกค้าใหม่ และเป็นแรงจูงใจให้ลูกค้าระบบเติมเงินให้เปลี่ยนเพ็คเกจเป็นแบบรายเดือน

ฟิทช์เชื่อว่า AIS และ DTAC อาจได้รับผลกระทบจากจำนวนลูกค้าระบบเติมเงินย้ายไปยังคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยรวม น่าจะได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นลูกค้าในระบบรายเดือนซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน (Average Revenue Per User) ที่สูงกว่า ฟิทช์มองว่ารายได้จากระบบเติมเงินที่ลดลง น่าจะถูกชดเชยด้วยรายได้จากระบบรายเดือนที่เพิ่มขึ้น ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ AIS เพิ่มขึ้น 3.9% ในขณะที่ของ DTAC ยังคงอยู่ในระดับคงที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ฟิทช์คาดว่ากำไรของ AIS และ DTAC น่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในปี 2560 จากค่าใช้จ่ายในการให้ส่วนลดค่าเครื่องที่ลดลง ฟิทช์ประมาณการว่า อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้(EBITDA Margin) ในปี 2560 ของ AIS และ DTAC จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 43% และ 34% ตามลำดับ (ปี 2559 อยู่ที่ 40% และ 32%) สัดส่วนค่าใช้จ่ายการตลาด (ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายในการให้ส่วนลดค่าเครื่อง) ต่อรายได้จากการให้บริการของ AIS และ DTAC ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 ลดลงอย่างมาก มาอยู่ที่ 8% และ 7% จาก 14% และ 12% ตามลำดับในปี 2559

ฟิทช์คาดว่า ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) หรือ TrueMobile จะมีการลดการให้ส่วนลดค่าเครื่องสำหรับลูกค้าระบบเติมเงินในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 หลังจากที่ส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าของ DTAC ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 ในขณะที่การให้ส่วนลดค่าเครื่องเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดสำหรับ True Mobile ในระยะสั้น ฟิทช์เชื่อว่าเนื่องจากส่วนแบ่งทางการตลาดของ True Mobile ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่ผ่านมา บริษัทอาจจะให้ความสำคัญต่อความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น โดยลดการให้ส่วนลดค่าเครื่องซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง

ฟิทช์มองว่าการที่อุตสาหกรรมเริ่มลดการให้ส่วนลดค่าเครื่อง ผู้ประกอบการน่าจะหันมามุ่งเน้นคุณภาพของโครงข่าย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของลูกค้าในการเลือกใช้บริการ ผู้ประกอบการโทรคมนาคมน่าจะมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงข่ายเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านคุณภาพการให้บริการและพื้นที่ครอบคลุมของโครงข่าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ