บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เปิดสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ Bangchak Initiative and Innovation Center (BiiC) เพื่อต่อยอดขยายธุรกิจพลังงานสีเขียวและธุรกิจด้านชีวภาพ สนับสนุนนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 พร้อมวางแผนร่วมลงทุน Startup ในกลุ่มพลังงานสีเขียว ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ BCP เปิดเผยว่า บริษัทจัดงาน Breaking the Green Ceiling Exclusive Seminar เปิดตัวสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ BiiC และจัดให้มีการบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ เกี่ยวกับนวัตกรรมพลังงานสีเขียว ผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม โดยได้ร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างระบบนิเวศน์สำหรับนวัตกรรมสีเขียว (Green Ecosystem) ส่งเสริมและผลักดันนวัตกรรมต่าง ๆ ที่สนับสนุนการก้าวกระโดดของพลังงานสีเขียวและผลิตภัณฑ์ชีวภาพ นำมาต่อยอดธุรกิจให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Breakthrough) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการใช้วัสดุหมุนเวียน ย่อยสลายได้ ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้าง S-curve ใหม่ที่ช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสังคม
ในส่วนของการวิจัยและพัฒนา (R&D) มีการให้ทุนวิจัยแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ พัฒนาสิทธิบัตรของเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมสีเขียว ให้สามารถนำมาใช้งานได้ในเชิงอุตสาหกรรม เช่น ร่วมมือกับคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อนำผลงานวิจัยชุดปรับองศาของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ตามการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ และชุดระบบแจ้งเตือนการล้างแผงเซลล์แสงอาทิตย์ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าเทคโนโลยีที่ใช้โดยทั่วไปมาใช้กับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท และมีการวิจัยด้านสาหร่ายเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง
“แผนส่งเสริมและลงทุนในธุรกิจเกิดใหม่ (Startup) มีการเฟ้นหาธุรกิจที่มีศักยภาพจากหลากหลายช่องทาง ในช่วงเริ่มต้น บางจากฯ ได้เข้าเป็น Partner ของ Plug and Play ที่เป็น Startup Accelerator และ Open Innovation Platform ใน Silicon Valley เพื่อติดตามและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ จากธุรกิจด้านพลังงาน New Material & Packaging และ Retail จากทั่วโลกมาต่อยอดกับอุตสาหกรรมพลังงานและชีวภาพ รวมทั้งคัดเลือกลงทุนในรายที่มีศักยภาพเพื่อผลักดันให้เกิดขยายตัว (Scale Up) ได้เร็วขึ้น ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพื่อเข้าลงทุน Startup ในกลุ่มพลังงานสีเขียว ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และการลดของเสียและก๊าซเรือนกระจก"นายชัยวัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ สถาบัน BiiC ยังได้พัฒนา Live Lab ขึ้นเป็นพื้นที่สำหรับจัดงาน Startup Pitching Event เพื่อให้เกิดการระดมสมอง แลกเปลี่ยนไอเดียนวัตกรรมใหม่ๆ และเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่าง Startup และหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยแนวทางการทำธุรกิจของสถาบัน BiiC ร่วมกับ Startup เป็นไปได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การเข้าลงทุนเพื่อเป็นเงินลงทุนระยะเริ่มต้น (Seed Money) หรือ กองทุนร่วมทุน (Venture Fund) แล้วแต่ความเหมาะสมและแนวทางการพัฒนาธุรกิจของ Startup แต่ละราย
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าการร่วมสร้าง Green Ecosystem ขึ้นมานี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในการสนับสนุนและผลักดันการพัฒนาด้านนวัตกรรมสีเขียวจากหลายๆ ภาคส่วน และนำเทคโนโลยีล้ำสมัยต่าง ๆ มาช่วยต่อยอด หรือปลดล็อคข้อจำกัดในอุตสาหกรรมพลังงานและการเกษตร เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 ได้อย่างล้ำสมัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน