THAI เปิดเส้นทางบินกรุงเทพฯ-เวียนนา ตั้งแต่ 16 พ.ย.หวังทำกำไรใน 3-4 เดือน,พร้อมปรับแผนการตลาดเส้นทางมอสโคว์ที่ยังขาดทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 11, 2017 09:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิโรจน์ ศิริโหราชัย ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหารรายได้และบริการการพาณิชย์ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า การบินไทยจะเปิดเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพฯ-เวียนนา ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. 60 โดยการบินไทยให้บริการเที่ยวบินไป-กลับในเส้นทางบินดังกล่าวด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 777-300 ER มีจำนวนที่นั่ง 348 ที่นั่ง แบ่งเป็นชั้นธุรกิจ 42 ที่นั่ง และชั่นประหยัด 306 ที่นั่ง โดยทำการบินสัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน ได้แก่ วันจันทร์ พฤหัสบดี เสาร์ และอาทิตย์ ซึ่งมีตารางบินดังนี้ กรุงเทพฯ-เวียนนา เที่ยวบิน TG 936 เวลา 01.30-07.00 น. และเวียนนา-กรุงเทพฯ เที่ยวบิน TG 937 เวลา 13.30-05.20 (ของวันรุ่งขึ้น)

ทั้งนี้ เวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ถือเป็นจุดบินใหม่ของการบินไทย ซึ่งตั้งอยู่ในยุโรปกลางและเป็นประตูสู่ภูมิภาคยุโรป ผู้โดยสารสามารถเชื่อมต่อการเดินทางสู่เมืองต่าง ๆ ในยุโรป และจากยุโรปเข้าสู่ประเทศไทยได้อย่างสะดวกสบายด้วยเครือข่ายการบินของการบินไทย อีกทั้งเวียนนายังเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐออสเตรียที่มีวัฒนธรรม และความได้เปรียบของทำเลที่ตั้งของประเทศอยู่ท่ามกลางความสวยงามทางธรรมชาติที่รายล้อมด้วยขุนเขา มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย เป็นจุดแข็งในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ซึ่งการบินไทยได้ตั้งเป้าอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ของเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพฯ-เวียนนา ในปีแรกที่เปิดให้บริการที่ระดับมากกว่า 75% และคาดว่าเส้นทางบินใหม่ดังกล่าวจะสามารถสร้างกำไรได้ภายใน 3-4 เดือน หลังจากเปิดให้บริการ

นายเจษฎา จันเทรมะ ผู้จัดการทั่วไปภาคพื้นยุโรป THAI กล่าวว่า ปัจจุบันการบินไทยได้ทำการบินไปยัง 12 เมืองใน 10 ประเทศของยุโรป ได้แก่ โคเปนเฮเกน ออสโล บรัสเซลส์ ปารีส แฟรงก์เฟิร์ต มิวนิก ซูริก สตอกโฮล์ม ลอนดอน โรม มิลาน และมอสโคว์ ซึ่งเส้นทางบินในยุโรปที่ได้เปิดไปก่อนหน้านี้เมื่อปลายปี 59 คือ กรุงเทพฯ-มอสโคว์ ซึ่งเป็นการกลับมาเปิดเส้นทางบินตรงสู่มอสโคว์อีกครั้งหลังจากยกเลิกไป โดยเส้นทางบินกรุงเทพฯ-มอสโคว์ ยังคงเผชิญกับการขาดทุนกว่า 100 ล้านบาท หลังจากเปิดให้บริการไปเมื่อปลายปีก่อน

สำหรับสาเหตุของการขาดทุนเกิดขึ้นมาจากการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรงจากสายการบินอื่น ๆ เช่น สายการบินแอโรฟลอต ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติรัสเซีย สายการบินเอทิฮัด และสายการบินโลว์คอสต์ ที่มีเที่ยวบินตรงสู่แหล่งท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรองของประเทศไทย โดยทางคณะกรรมการบริษัทได้รับทราบและจับตาสถานการณ์เส้นทางดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมปรับแผนกลยุทธ์การตลาดช่วงฤดูกาลหนาวนี้ ซึ่งเป็นไฮซีซั่น โดยการขยับราคาขายตั๋วโดยสารที่สูงขึ้น พร้อมเจาะกลุ่มผู้โดยสารระดับพรีเมียมมากขึ้น ซึ่งมองว่าว่าภาพรวมในเดือนต.ค.-ธ.ค. 60 จะมีทิศทางที่บวกในเรื่องของราคาตั๋วโดยสาร

นายชัยยง รัตนาไพศาลสุข ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหารเครือข่ายเส้นทางบินและฝูงบิน THAI เปิดเผยว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้การบินไทยยังมีการรับมอบเครื่องบินใหม่ที่เหลืออยู่อีกจำนวน 2 ลำ คือ เครื่องบินแอร์บัส 350-300 มีกำหนดรับมอบในช่วงปลายเดือนก.ย.นี้ และเครื่องบินโบอิ้ง 787-9 มีกำหนดรับมอบในช่วงปลายเดือนต.ค.นี้ โดยจะทำให้ฝูงบินของการบินไทยมีจำนวนเครื่องบินทั้งหมด 100 ลำ แบ่งเป็น เครื่องบินของการบินไทย จำนวน 80 ลำ และเครื่องบินของไทยสไมล์ จำนวน 20 ลำ

ส่วนในปี 61 การบินไทยยังไม่มีแผนที่จะเพิ่มจำนวนเครื่องบินใหม่ แต่ยังจะทยอยรับมอบเครื่องบินที่ได้สั่งซื้อไปแล้วอีกจำนวน 5 ลำ ซึ่งเป็นเครื่องบินแอร์บัส 350-500 ทั้งหมด และมีการปลดระวางเครื่องบินอีก 5 ลำ คือ เครื่องบินโบอิ้ง 747-400 โดยจะทำให้ในปี 61 ฝูงบินของการมีไทยมีจำนวนทั้งหมด 100 ลำ เท่ากับปี 60 โดยแผนงานของการบินไทยในปี 61 ยังคงเน้นการการเพิ่มอัตราการใช้เครื่องบินให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งปัจจุบันอัตราการใช้เครื่องบินของการบินไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 13 ชั่วโมง/ลำ ซึ่งมากกว่ามาตรฐานของอุตสาหกรรมที่ใช้เฉลี่ย 11 ชั่วโมง/ลำ

ทั้งนี้ การบินไทยยังคงพยายามรักษาอัตราการใช้เครื่องบินให้เกิดความเหมาะสมมากที่สุด และจะไม่ใช้เครื่องบินที่เกินค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมมากจนเกินไป เพราะหากใช้มากเกินไปจะทำให้เครื่องบินมีความเสื่อมโทรมเร็วและมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับแผนกลยุทธ์ด้านเส้นทางการบินของการบินไทยในช่วงตารางบินฤดูหนาวนี้ (เริ่มเดือนต.ค. 60 เป็นต้นไป) การบินไทยจะเน้นการเพิ่มความถี่ในเส้นทางการบินที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะเส้นทางบินตรงในภูมิภาคเอเชียเหนือ เช่น การเพิ่มความถี่เที่ยวบินตรงของเส้นทางกรุงเทพฯ-โซล (อินชอน) กรุงเทพฯ-ปูซาน กรุงเทพฯ-โตเกียว (ฮาเนดะ) กรุงเทพ-โอซาก้า และกรุงทพฯ-ไทเป เป็นต้น อีกทั้งจะมีเส้นทางบินตรงสู่จากหัวเมืองท่องเที่ยวหลักในประเทศไทยสู่หัวเมืองในเอเชียเหนือ เช่น ภูเก็ต-ปักกิ่ง เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่ภูเก็ตช่วงไฮซีซั่นส่วนการเปิดเที่ยวบินตรงสู่หัวเมืองรองของจีน การบินไทยจะให้ไทยสไมล์เป็นผู้ดำเนินการให้บริการ ซึ่งคาดว่าจะมีการทยอยเปิดเพิ่มในปี 61 หลังจากเปิดให้บริการเส้นทางบินตรงใหม่สู่ไต้หวันของการบินไทย คือ กรุงเทพฯ-เกาสง

“เครื่องบินของการบินไทยจะครบ 100 ลำในช่วงตารางบินฤดูหนาวนี้พอดี ซึ่งเราก็ได้วางแผนการบินไว้หมดแล้ว ซึ่งเราจะเน้นเส้นทางการบินที่มีศักยภาพ โดยจะเน้นเพิ่มความถี่ในเส้นทางบินภูมิภาคเอเชียเหนือ ได้แก่ เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน เป็นต้น พร้อมกับปรับเส้นทางบินบางเส้นทางที่ยังไม่เป็น Daily ให้เป็น Daily เพื่อรองรับช่วงไฮซีซั่น และมีเส้นทางบินตรงจากจีนเข้าสู่ภูเก็ต เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า"นายชัยยง กล่าว

สำหรับปีนี้การบินไทยยังมั่นใจว่า Cabin Factor จะอยู่ที่ระดับ 80% โดยแนวโน้ม Cabin Factor ในช่วงครึ่งปีหลังจะทำได้มากกว่าระดับ 80% ในครึ่งปีแรก ตามช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีการใช้บริการสายการบินที่สูงขึ้นมากกว่าครึ่งปีแรก และส่งผลให้รายได้ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วย (Passenger yield) ในช่วงครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกที่ 2.17 บาท/คน/กิโลเมตร ถึงแม้ว่ารายได้ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วยในครึ่งปีแรกที่ผ่านมาจะปรับตัวลดลงจากสิ้นปีก่อนที่ 2.35 บาท/คน/กิโลเมตร เพราะในช่วงที่ผ่านมาถึงปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินมีการแข่งขันที่สูง โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคาของสาบการบินโลว์คอสต์ และการสายการบินจากตะวันออกกลางที่เข้ามาแข่งขันในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น

โดยกลยุทธ์ของการบินไทยในภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น การบินไทยจะไม่เน้นการเข้าไปแข่งขันด้านราคากับคู่แข่ง เพราะจะเป็นผลทำให้รายได้ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วยปรับตัวลดลง ซึ่งปัจจุบันรายได้ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วยของการบินไทยยังถือว่าต่ำกว่าคู่แข่งในระดับหนึ่ง โดยการบินไทยจะเน้นความเป็นสายการบินพรีเมียม เน้นกลุ่มผู้โดยสารระดับบนมากขึ้น เพราะเป็นกลุ่มผู้โดยสารที่ยินดีซื้อตั๋วโดยสารในราคาที่สูงขึ้น ส่งผลให้รายได้ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วยของการบินไทยสามารปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ และคาดว่ารายได้ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วยในปี 60 จะสูงขึ้นมากกว่าปีก่อนที่ 2.35 บาท/คน/กิโลเมตร

สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์ในปี 61 มองว่าการแข่งขันจะสูงขึ้นและรนแรงมากขึ้น เนื่องจากมีปริมาณเครื่องบินจากสายการบินในอุตสาหกรรมที่เตรียมทยอยส่งมอบในปี 61 ราว 1,000 ลำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นออเดอร์สายการบินโลว์คอสต์ที่มีการเพิ่มฝูงบินใหม่เข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งทุก ๆ สายการบินในอุตสาหกรรมจะต้องมีการบริการการใช้เครื่องบินที่เข้ามาเพิ่มให้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้นจากปี 60 อีกทั้งมองว่าในปี 61 อาจจะเกิดภาวะโอเวอร์ ซัพพลายของจำนวนเครื่องบินและเที่ยวบิน จากปริมาณเครื่องบินที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปัจจุบันความต้องการใช้ยังมากกว่าปริมาณเครื่องบิน

ส่วนการใช้ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาของการบินไทยเป็นฐานการบินควบคู่ไปกับท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมินั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก และยังไม่มีแผนการในเรื่องดังกล่าว เพราะฝูงบินของการบินไทยยังมีจำนวนเครื่องบินที่ไม่เพียงพอรองรับการใช้ฐานการบินแบบ 2 ท่าอากาศยาน (Duo Airport) และการเป็น Duo Airport ทำให้การบินไทยจะต้องมีต้นทุนการดำเนินการที่สูงขึ้น เหมือนกับในช่วงที่ไทยสไมล์เคยใช้ทั้งท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและดอนเมือง แล้วได้ยกเลิกการทำการบินที่ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองไป และการบินไทยเป็นสายการบินที่ให้การเชื่อมต่อเที่ยวบิน (Network airline) ทำให้การใช้ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิมีการดำเนินการเชื่อมต่อเที่ยวบินที่ราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากที่สุด จึงทำให้การบินไทยยังคงใช้ฐานการบินหลักแห่งเดียว (Single Airport) ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ