นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล. เคทีบี (ประเทศไทย) (KTBST) ประเมินหุ้นไทยสัปดาห์นี้ (11 - 15 ก.ย.) ดัชนีฯมีมีแนวโน้มปรับฐานก่อนเดินหน้าต่อ แม้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีหลายปัจจัยที่หนุนให้ดัชนีฯปรับขึ้นมามาก อาทิ ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีขึ้น แรงหนุนจากข่าวบวกของหุ้นสินค้าโภคภัณฑ์ และความ Laggard ของตลาดหุ้นไทยเทียบกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ แต่ราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมามาก หากมองในมุมเทคนิคดัชนีฯใช้เวลาเพียง 10 วัน ขึ้นมา 4.9% และคือชนจุดสูงสุดในรอบ 51 เดือน ซึ่งหากไม่ข้ามผ่านจุดสูงสุดดีงกล่าวไปเลย ดัชนีฯก็อาจจะพักตัวชั่วคราวก่อนเดินหน้าต่อ
"ทาง KTBST มองว่าจะเป็นไปในแบบพักตัวชั่วคราวแล้วขึ้นต่อ โดยคาดแนวรับดัชนีฯสัปดาห์นี้ ที่ 1,621-1,628 จุด ส่วนแนวต้านคือ 1,658 จุด ตัวแปรที่มีผลต่อตลาดคือ สถานการณ์เกาหลีเหนือ และ นักลงทุนต่างประเทศจะกลับเข้ามาซื้อหุ้นต่อหรือไม่"
ดังนั้น กลยุทธ์ลงทุนในสัปดาห์นี้ นักลงทุนควรพิจารณาขายทำกำไรในหุ้นขึ้นมามาก และใช้การเล่นแบบเปลี่ยนตัว-เปลี่ยนกลุ่ม หุ้นที่น่าสนใจในสัปดาห์นี้คือหุ้นที่อิงกับการเติบโตของเศรษฐกิจ , หุ้นธนาคาร , หรือหุ้นค้าปลีก ที่ถูกปรับลดความน่าสนใจ (underweight) มาก่อนหน้านี้ โดยหุ้นที่แนะนำเชิงกลยุทธ์ ได้แก่ AMATA , CPALL, BBL, THANI , EPG, SCC
ปัจจัยการลงทุนที่ควรติดตาม ได้แก่ ผลจากเฮอร์ริเคน “เออร์มาร์" ที่สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อสหรัฐฯในรแบหลายสิบปี ทาง Bloomberg รายงานว่าความเสียหายในกรณีร้ายแรงอาจจะมีมูลค่าถึง 1.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ อุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายหลักได้แก่อุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งถือเป็นปัจจัยลบใหม่ ขณะเดียวกันเลขจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกพุ่งขึ้นสู่ระดับ 298,000 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ จึงคาดการณ์กันว่า Fed อาจจะมีการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยและด้วยเหตุผลทั้งสามประการดังกล่าวทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ส่งผลให้การแข็งค่าของเงินบาทจึงเป็นประเด็นที่นักลงทุนจับตามองอีกครั้ง คาดว่าค่าเงินบาทจะแข็งต่อเนื่องซึ่งเป็นลบต่อกลุ่มส่งออก
ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-เกาหลีเหนือยังเป็นปัจจัยลบต่อเนื่อง หลังจากเกาหลีเหนือมีการทดสอบระเบิดไฮโดรเจน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้มีการออกมาตอบโต้ด้วยการใช้มาตรการคว่ำบาตรกดดันเกาหลีเหนือต่อเนื่อง มีการจับตารอดูมาตรการใหม่ในวันที่ 11 ก.ย.นี้ รวมถึงการตอบโต้จากทางเกาหลีเหนือที่อาจจะตามมาอีก
ส่วนผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ผ่านมา มีการแถลงข่าวหลังประชุมโดยระบุว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ ECB ดำเนินนโยบาย QE ต่อไป คาดว่าการลด QE จะเกิดขึ้นช้าออกไปประมาณ 18 เดือน จากที่เคยคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 15 เดือน ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นบวกต่อตลาด
สำหรับตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ช่วงวันที่ 11-13 ก.ย. นี้ ที่จะมีคณะนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 560 ราย เข้าร่วมสัมนาและเยี่ยมชมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของ EEC โดย KTBST มองประเด็นดังกล่าวเป็นบวกต่อกลุ่มนิคมฯ ที่มีเนื้อที่ในแถบนั้น ได้แก่ AMATA, WHA, TICON, ROJNA และอีกปัจจัย ได้แก่ มาตรการของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์นี้จะมีมาตรการภาษีสุราและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม