ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้ม OISHI ที่ “A+/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 12, 2017 14:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (OISHI) ที่ระดับ “A+"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานะของบริษัทซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของผู้ผลิตสินค้าเครื่องดื่มชั้นนำของไทยคือ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ทั้งนี้ ในส่วนของอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทนั้นก็สะท้อนถึงสถานะผู้นำในตลาดเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มในประเทศไทย ตลอดจนการมีกระแสเงินสดที่เติบโตขึ้น และสภาพคล่องทางการเงินที่ดี อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงที่บริษัทต้องเผชิญในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจซึ่งส่งผลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค

อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนฐานะที่บริษัทเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทไทยเบฟเวอเรจโดยพิจารณาจากบทบาทของบริษัทในการสร้างรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และอาหาร รวมทั้งบทบาทการทำหน้าที่เป็นครัวกลางให้แก่ธุรกิจอาหารของ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจด้วย โดยบริษัทเป็นผู้ผลิตชาพร้อมดื่มและเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์อื่น ๆ ตลอดจนรับผิดชอบบริหารครัวกลางและเครือร้านอาหารญี่ปุ่น ตราสัญลักษณ์สินค้า “โออิชิ" ของบริษัทเป็นหนึ่งในตราสัญลักษณ์สำคัญสำหรับเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และเครือร้านอาหารญี่ปุ่นของกลุ่ม บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ

ทั้งนี้ ณ เดือนพฤษภาคม 2560 บมจ.ไทยเบฟเวอเรจถือหุ้นในสัดส่วน 79.7% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัทและมีส่วนในการควบคุมการดำเนินงานของบริษัทอย่างใกล้ชิด บริษัทได้รับการสนับสนุนและได้รับประโยชน์หลายด้านจากการผสานพลังทางธุรกิจกับ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งคณะผู้บริหารและคณะกรรมการที่มีความสามารถ ตลอดจนระบบเครือข่ายการกระจายสินค้าที่กว้างขวาง และการใช้เครื่องจักรในการผลิตร่วมกัน เป็นต้น

ทั้งนี้ เครือข่ายการจัดจำหน่ายขนาดใหญ่ของบริษัทแม่ช่วยให้สินค้าของบริษัทกระจายตัวครอบคลุมในตลาดต่าง ๆ และเข้าถึงลูกค้าทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีโอกาสเติบโตในตลาดต่างประเทศด้วย บริษัทยังทำหน้าที่เป็นหน่วยผลิตเครื่องดื่มให้แก่กลุ่มบริษัทแม่โดยผลิตสินค้าประเภทนมและน้ำดื่ม นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถจัดซื้อวัตถุดิบร่วมกับบริษัทไทยเบฟเวอเรจซึ่งช่วยทำให้บริษัทมีอำนาจต่อรองกับคู่ค้ามากยิ่งขึ้นอีกด้วย

บมจ.ไทยเบฟเวอเรจได้รับการจัดอันดับโดยทริสเรทติ้งที่ระดับ “AA+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทได้รับแรงหนุนจากฐานะการเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มชั้นนำในประเทศไทย ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในตลาดชาพร้อมดื่มอีกทั้งการสนับสนุนจากบริษัทแม่ทำให้บริษัทคงความได้เปรียบทางการแข่งขันเอาไว้ได้ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 46.5% ของตลาดชาพร้อมดื่มภายในประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 44% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีตราสัญลักษณ์ “โออิชิ" (Oishi) เป็นตราสินค้าหลักของบริษัทซึ่งสร้างกระแสความเป็นญี่ปุ่น สถานะทางการตลาดที่เข้มแข็งของบริษัทเป็นผลมาจากการมุ่งเน้นสร้างความแข็งแกร่งของตราสัญลักษณ์ในขณะเดียวกันก็มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

บริษัทดำเนินธุรกิจเครือภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นภายใต้ตราสัญลักษณ์จำนวน 7 ตรา อีกทั้งยังจำหน่ายอาหารแช่แข็งและแช่เย็นและให้บริการจัดส่งอาหารอีกด้วย ณ เดือนมิถุนายน 2560 บริษัทมีเครือภัตตาคารรวม 242 สาขา โดยร้านชาบูชิ (Shabushi) ซึ่งเป็นภัตตาคารชาบูชาบูหม้อไฟและซูชิข้าวปั้นญี่ปุ่นแบบบุฟเฟต์นั้นมีจำนวนสาขาประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนสาขาร้านอาหารทั้งหมดของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังมีร้านอาหารในเครือที่สำคัญอื่น ๆ ด้วย เช่น โออิชิ แกรนด์ (Oishi Grand) โออิชิ อีทเทอเรียม (Oishi Eaterium) โออิชิ บุฟเฟ่ต์ (Oishi Buffet) โออิชิ ราเมน (Oishi Ramen) นิคุยะ (Nikuya) และคาคาชิ (Kakashi)

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทได้ทำการปรับปรุงรูปแบบเมนูร้านอาหารภายใต้ตราสัญลักษณ์ Nikuya และ Kakashi อีกทั้งยังได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบร้าน Oishi Buffet บางสาขามาเป็น Oishi Eaterium ภายใต้แนวคิดที่ให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีกว่าด้วยคุณภาพอาหารที่สูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามามากขึ้นรวมทั้งเพิ่มยอดขายและกำไร บริษัทวางแผนขยายสาขาร้านอาหารให้ทั่วเมืองใหญ่ 15 สาขาต่อปี นอกจากนี้ ยังมีแผนจะขยายธุรกิจประเภทสินค้าอาหารพร้อมรับประทานและสินค้าอาหารแช่แข็งด้วย

อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดบางประการจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และร้านอาหาร โดยธุรกิจทั้งสองประเภทมีการส่งเสริมการขายเกิดขึ้นบ่อยและมีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง นอกจากนี้ บริษัทยังเผชิญกับผลกระทบที่เกิดจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าอีกด้วย โดยยอดขายจากร้านอาหารสาขาเดิมได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างเชื่องช้าและการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลง ยอดขายจากธุรกิจอาหารของบริษัทลดลงปีละประมาณ 1%-2% ในช่วงปี 2558 ถึงช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ปีงบประมาณใหม่ของบริษัทเริ่มในเดือนตุลาคม) โดยยอดขายจากสาขาเดิมลดลง 6% ในปี 2559 และลดลง 1.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560

อันดับเครดิตได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการที่ดีของบริษัทซึ่งขับเคลื่อนโดยยอดขายเครื่องดื่มที่เติบโตเป็นอย่างดี บริษัทมีรายได้รวม 10,399 ล้านบาทในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน 2559 และ 10,101 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ยอดขายจากธุรกิจเครื่องดื่มสร้างรายได้ในสัดส่วน 52% ของรายได้รวมในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ในขณะที่ธุรกิจอาหารมีสัดส่วน 48% ยอดขายจากธุรกิจเครื่องดื่มเติบโตสูงถึง 12% ในปี 2559 จากผลของการออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่และการมีรายได้จากการรับจ้างผลิตเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้น

อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นโดยเพิ่มเป็น 18.1% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 เปรียบเทียบกับ 13.3% ในปี 2558 และ 10.6% ในปี 2557 โดยเป็นผลจากมาตรการควบคุมต้นทุนของบริษัท ตลอดจนกิจกรรมส่งเสริมการขายและการตลาดที่ได้ผลดี และการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ นอกจากนี้ สายการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีการบรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อ (Cold Aseptic Filling -- CAF) ก็ยังส่งผลในการประหยัดต้นทุนอีกด้วย

บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ 1,907 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 สภาพคล่องของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมมากกว่า 45% ในช่วงปี 2556 ถึงช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับ 46.1 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 เพิ่มขึ้นจาก 17 เท่าในปี 2558 ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 2,019 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2560 โดยมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนในระดับต่ำที่ 27.8%

ในช่วง 3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ต่อปีของบริษัทจะเติบโตในอัตราปานกลางโดยมีแรงขับเคลื่อนจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมทั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการขยายสาขาร้านอาหาร คาดว่าการส่งออกสินค้าเครื่องดื่มไปยังประเทศเพื่อนบ้านยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนกำไรของบริษัทแม้ว่าจะได้รับประโยชน์จากประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้น แต่ก็ยังคงมีแรงกดดันจากกฎระเบียบใหม่คือภาษีสรรพสามิตและภาษีที่เรียกเก็บจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลซึ่งจะทำให้ต้นทุนของบริษัทสูงขึ้นได้ โดยคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ระดับ 1,700-2,000 ล้านบาทต่อปีซึ่งรวมผลกระทบจากภาษีสรรพสามิตแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนประมาณ 4,400 ล้านบาทในช่วงปี 3 ปีข้างหน้าเพื่อใช้ขยายสาขาร้านอาหาร รวมทั้งเพื่อเสริมศักยภาพเครื่องจักรการผลิต และซ่อมบำรุงสายการผลิตเครื่องดื่ม โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะอยู่ในระดับไม่เกิน 40%

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสถานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ อีกทั้งจะยังคงรักษาสถานะทางการแข่งขันในตลาดชาพร้อมดื่มและสร้างผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องต่อไป

ความเสี่ยงจากการถูกปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทจะเกิดจากสถานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนแอลงอันเนื่องมาจากผลการดำเนินงานที่ถดถอยลง และ/หรือโครงสร้างเงินทุนที่อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญเป็นระยะเวลานาน การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทจะเกิดจากการที่บริษัทมีผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าการเปลี่ยนแปลงในระดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของบริษัทและความเกี่ยวโยงที่บริษัทมีกับบริษัทไทยเบฟเวอเรจจะส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทตามไปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ