บลจ.ธนชาต ออกกองทุนเน้นหุ้นใหญ่พ่วงสิทธิประกัน มอง SET ยังมีอัพไซด์,ขาย 15-25 ก.ย.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 14, 2017 11:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ธนชาต เปิดเผยว่า บริษัทออกกองทุน T-PrimePlusAI ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นไทยขนาดใหญ่และเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านประกันชีวิตและสุขภาพให้กับผู้ลงทุน ขณะที่มองตลาดหุ้นไทยแม้จะขึ้นมากมากในช่วงนี้ แต่ก็ยังมีอัพไซด์จากเศรษฐกิจไทยที่ยังเติบโตหนุนให้ดัชนี SET ปีหน้าแตะ 1,750 จุด โดยเตรียมเปิดขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ในวันที่ 15-25 ก.ย.นี้

สำหรับกองทุน T-PrimePlusAI ในระยะแรกมีกลยุทธ์เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ไม่เกิน 40 บริษัท โดยผู้จัดการกองทุนมีการคัดกรองบริษัทตามเงื่อนไขที่วางไว้อย่างเข้มข้น โดยจะพิจารณาบริษัทในด้านต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงของบริษัท อัตราหนี้สินของบริษัท การทำกำไรของบริษัท และอัตราการจ่ายเงินปันผลของบริษัทว่าอยู่ในระดับที่น่าสนใจและจ่ายอย่างสม่ำเสมอ

สาเหตุที่ในระยะแรกจะเน้นไปที่หุ้นขนาดใหญ่ เพราะเชื่อมั่นในการเติบโตของประเทศไทยในระยะนี้และในระยะถัดไป โดยหุ้นขนาดใหญ่นั้นครอบคลุมมูลค่าตลาดถึงกว่า 70% แล้ว สะท้อนภาพรวมของตลาดหุ้นไทยได้เป็นอย่างดี ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มมีการพัฒนาและขยายตัวจากโครงการต่าง ๆ ที่เป็นเมกะโปรเจคจากภาครัฐ แน่นอนว่ากลุ่มที่จะได้รับอานิสงส์เป็นส่วนมากก็คือกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ เห็นได้จากในช่วงนี้หุ้นไทยมีการปรับตัวขึ้นหลังจากปัจจัยในประเทศที่คลี่คลายลง

กองทุน T-PrimePlusAI เป็นกองทุนหุ้นไทยที่มีสิทธิประโยชน์ที่โดดเด่น โดยหากลงทุนตามเงื่อนไข ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากประกันชีวิตและสุขภาพด้วย มีเงื่อนไขคือ ลงทุนขั้นต่ำที่ 500,000 บาท และคงเงินลงทุนเอาไว้อย่างน้อย 1 ปี และสามารถขายกองทุนได้ตามรอบที่กำหนด มีแผนคุ้มครองสุขภาพตามกรมธรรม์ให้ถึง 4 แผนความคุ้มครอง ซึ่งแต่ละแผนความคุ้มครองจะขึ้นอยู่กับเงินลงทุนของผู้ลงทุน ตั้งแต่ 500,000 / 1,500,000 / 5,000,0000 ไปถึง 10,000,000 บาท โดยคุณสมบัติสำคัญของผู้ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์นี้คือ เป็นบุคคลธรรมดาที่มีอายุระหว่าง 15-65 ปี มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงตามเงื่อนไขของบริษัทประกัน และการคุ้มครองนั้นจะเริ่มต้นในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่ลงทุนหรือเมื่อได้รับการอนุมัติจากบริษัทประกัน

กองทุน T-PrimePlusAI จะเปิดขายครั้งแรกในวันที่ 15-25 ก.ย.60 และเปิดขายอีก 2 ครั้ง ในเดือนธ.ค.60 และเดือนมี.ค.61 หลังจากนั้นจะมีการเปิดขายทุก ๆ 3 เดือน ในช่วงเดือนต.ค. ,ม.ค. ,เม.ย. และก.ค.

สำหรับการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุนนี้ กรณีลงทุนในปีที่ 1 จะขายได้เมื่อกองทุนครบกำหนดอายุ 1 ปี ในกรณีลงทุนในปีที่ 2 ผู้ลงทุนจะขายได้เมื่อถือหน่วยลงทุนครบ 1 ปี ในเงินลงทุนแต่ละก้อน

กองทุน T-PrimePlusAI เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ รู้จักและคุ้นเคยกับการลงทุนในหุ้น แต่ไม่ต้องการความหวือหวาเหมือนการลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก เน้นลงทุนในระยะ 1 ปี ไปจนถึงระยะยาวได้ ต้องการความคุ้มครองจากประกันสุขภาพอย่างกลุ่มนักลงทุนในวัยทำงานที่เป็นเสาหลักครอบครัว และต้องการหลักประกันสุขภาพให้ตัวเองเพื่อสามารถดูแลครอบครัวได้

นายบุญชัย กล่าวอีกว่า แม้ในช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นค่อนข้างแรง จนทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลว่าราคาหุ้นอาจแพงเกินไป หรือไม่ใช่จังหวะที่เข้าซื้อนั้น สำหรับ บลจ.ธนชาต มองว่าในระดับราคาแบบนี้ แม้จะไม่ได้อยู่ในระดับที่ถูก แต่ก็ไม่ถือว่าแพงนัก นับเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว (Fair value) เพราะเป้าหมายหุ้นไทยในปีหน้า คือ 1,750 จุด ซึ่งทำให้บริษัทมองว่ายังมีอัพไซด์จากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งเรื่องภาวะเศรษฐกิจที่ยังเติบโตได้อีก ดอกเบี้ยไทยก็ยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับยังมีโครงการขนาดใหญ่อีกหลายโครงการที่รอการประมูลในไตรมาส 1/61 ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อโครงการเหล่านี้ได้มีการดำเนินการ จะผลักดันเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดอีกมาก

“ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปรับตัวขึ้นผ่านแนวต้านสำคัญที่บริเวณ 1,600 จุดได้ โดยทำจุดสูงสุดในรอบ 4 ปี มาอยู่ที่ระดับ 1,647 จุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากสถานการณ์การเมืองในประเทศมีความผ่อนคลายลง ส่งผลให้มีแรงซื้อจากทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในหุ้นขนาดใหญ่ ประกอบกับตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ของไทยที่ออกมาค่อนข้างดีมาก ทำให้คาดว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อภาพรวมภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ นอกจากนั้น ยังพบว่าการที่โรงกลั่นบางแห่งในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากพายุและต้องหยุดดำเนินงานชั่วคราว ทำให้มีแรงเก็งกำไรเข้ามายังหุ้นกลุ่มพลังงานและโรงกลั่นในประเทศมากขึ้น"นายบุญชัย กล่าว

นายบุญชัย กล่าวอีกว่า นอกจากความน่าสนใจในตลาดหุ้นไทยแล้ว ในส่วนของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่นับวันยิ่งแพงขึ้นก็เป็นประเด็นที่ควรจับตาและให้ความใส่ใจ เพราะสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า ค่าใช้จ่ายสุขภาพรวมของคนไทยในปี 59 อยู่ที่ 381,387 ล้านบาท ปรับตัวขึ้นจาก 361,070 ล้านบาท ในปี 58 เกือบ 6% ซึ่งถ้าย้อนดูสถิติที่ผ่านมาก็ปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอด และหากนำสถิติย้อนหลังมาเปรียบเทียบ สามารถคาดการณ์ได้ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ค่ารักษาพยาบาลก็จะสูงขึ้นเป็นลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ