นายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในฐานะรักษาการแทนผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) คาดว่า ในเดือนพ.ย.นี้จะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล(ไฟลิ่ง) จัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Futures Fund:TFF) โดยขณะนี้ร่างสัญญาโอนและรับสิทธิในรายได้ของกองทุนนี้ อยู่ระหว่างพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดแล้วหลังจากที่หารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง และ กระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับผลประโยชน์ที่จะได้รับทั้งสองฝ่ายแล้ว โดยคาดว่าจะเปิดขายกองทุน TFF ในไตรมาสแรกของปี 61
ทั้งนี้ กทพ.จะโอนรายได้สัดส่วน 45% ของโครงการทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) และทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ให้กับกองทุน TFF เป็นเวลา 30 ปี ขณะที่ กทพ.จะได้รับเงินจากการระดมทุนผ่านกองทุน TFF จำนวนประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปใช้ลงทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษพระราม 3 -ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก วงเงินลงทุน 3.04 หมื่นล้านบาท และโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนตะวันออก วเงินลงทุน 1.7 หมื่นล้านบาท
นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า กทพ.อยู่ระหว่างการประกวดราคาโครงการทางพิเศษพระราม 3 -ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร โดยขณะนี้เตรียมจัดจ้างที่ปรึกษาโครงการ คาดเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งรอบที่แล้วมีผู้ยื่นเพียงรายเดียว และคาดว่าในเดือน ธ.ค.นี้จะเปิดประมูลเพื่อหาผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการนี้ โดยจะแบ่งเป็น 5 สัญญา ได้แก่ งานโยธา 4 สัญญา และ งานระบบ 1 สัญญา มีระยะทาง 18.7 กม. โดยตั้งเป้าเริ่มก่อสร้างได้ เม.ย.61 หรือไม่เกินกลางปี 61
ส่วนโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 นั้น ขณะนี้ได้ปรับปรุงเส้นทางโดยตัดเส้นทางที่ผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกไป โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณเสาตอม่อที่ 10 ของถนนประเสริฐมนูกิจ และไปเชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัชในรูปแบบทางแยกต่างระดับผ่านทางแยกถนนนวมินทร์ ก ระยะทางประมาณ 10.5 กม. โดยระหว่างนี้อยู่ระหว่างรออนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) เพราะมีการปรับปรุงและออกแบบรายละเอียดของโครงการใหม่ อย่างไรก็ตามคณะรัฐมตรีได้อนุมัติในหลักการแล้ว และคาดว่าในปลายปีนี้จะเสนอครม.ในรายละเอียดของโครงการได้
นอกจากนี้ กทพ.มีโครงการที่มีอยู่ในแผนเร่งด่วนอีก 3 โครงการ นอกเหนือจาก 2 โครงการดังกล่าวแล้ว ได้แก่ ทางเชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครไปยังทางพิเศษศรีรัชด้านทิศเหนือ (มุ่งไปแจ้งวัฒนะ) วงเงินลงทุน 175 ล้านบาทโดยได้ลงนามสัญญาเมื่อ 19 ก.ค.60 กับบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)และได้เริ่มก่อสร้าง 1 ส.ค.60 ระยะเวลา 18 เดือน คาดว่าจะเปิดให้บริการเดือน ก.พ. 62 ขณะนี้งานก่อสร้างเร็วกว่าแผน 1.65%
โครงการทางพิเศษสายกระทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต วงเงินลงทุน 1.39 หมื่นล้านบาท เป็นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร (รถยนต์ 2 ช่องจราจร และรถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจร) มีจุดเริ่มต้น้โครงการที่ตำบลป่าตอง บริเวณถนนเมตตา เป็นทางยกระดับข้ามถนนพิศิษญ์กรรีย์จนถึงเขานาคเกิดระยะทาง 0.9 กม. แล้วจึงเป็นอุโมงค์ ระยะทาง 1.85 กม. หลังจากนั้นเป็นทางยกระดับ ระยะทาง 1.23 กม. สิ้นสุดโครงการที่ตำบลกระทู้ บริเวณจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 รวมระยะทาง 3.98 กม. โดยโครงกานี้จะอำนวยความสะดวกให้คนในพื้นที่ นักท่องเที่ยว และแก้ไขปัญาจราจรและอุบัติเหตุบนทางหลวง หมายเลข 4029 รวมทั้งใช้เป็นเส้นทางอพยพกร๊เกิดภัยพิบัติ เช่น สึนามิ เป็นต้น ทั้งนี้ โครงการอยู่ระหว่างการพิจารณา EIA ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และ ปัจจุบันกระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างนี้พิจารณารายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามขั้นตอนของพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556
โครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร วงเงินลงทุน 4.54 พันล้านบาท โดยล่าสุดกระทรวงคมนาคมมีคำสั่งเมื่อ 10 ส.ค.60 แต่งตั้งคณะทำงานประสานงานโครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ โดยมีรองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวงเป็นประธานคณะทำงาน เพราะโครงการนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานได้แก่ กรมทางหลวง (ทล.) การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และ กทพ.