นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์ได้สรุปตัวเลขการเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Non-Aero) ที่เป็นการเก็บย้อนหลังระหว่างปี 56-60 รวมเป็นวงเงินประมาณ 3 พันล้านบาท โดยจะนำส่งหน้งสือแจ้งเรื่องนี้ไปยัง บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ในต้นสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ จากเดิมศูนย์บริการวิชาการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอิสระ ได้สรุปการเก็บค่าเช่าช่วง 5 ปีดังกล่าวไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท หรือปีละประมาณ 4 พันล้านบาท แต่ตามระเบียบกระทรวงการคลัง มีหลักเกณฑ์ว่า การคิดอัตราค่าเช่านี้ต้องมีการปรับในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยให้ปรับลดได้ และตั้งแต่ปี 55 มีเหตุสุดวิสัยได้แก่ เหตุการณ์น้ำท่วม เหตุการณ์ปฏิวัติ เป็นต้น ดังนั้นต้องปรับปรุงตัวเลขซึ่งทางจุฬาฯไม่ได้คิดว่าต้องปรับ
สำหรับอัตราจัดเก็บใหม่จะเริ่มจัดเก็บได้ในงบประมาณปี 61 (ต.ค.60- ก.ย.61)
"กรณีนี้ยืนยันว่าไม่กระทบกับผู้เช่า และประชาชน เพราะปี 61 สัญญาก็เดินหน้า แต่คงย้อนหลังนิดนึง ตอนนี้ได้ข้อยุติแล้ว เพราะเราประชุมร่วมกัน 4-5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จบหมดแล้ว"อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าว
ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ( AOT) กล่าวว่า ในงบปี 61 เป็นต้นไป กรมธนารักษ์ยังเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุ แบบส่วนแบ่งรายได้ (Revenue sharing)ในอัตราเดิม 5% และจะมีการเก็บเพิ่มที่คิดในแบบผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Assets : ROA) จะคิดในอัตรา 3% ทั้งนี้ AOT เหลืออายุเช่าที่ราชพัสดุในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอีก 15 ปี หรือหมดอายุในปี 75
ทั้งนี้ ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ มีประชุมคณะกรรมการ AOT จะมีการนำเสนอเรื่องกรมธนารักษ์ จัดเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุในอัตราใหม่และตัวเลขการเก็บย้อนหลัง 5 ปีของพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมทั้ง จะมีการพิจารณากรอบแผนแม่บทการพัฒนาโครงการพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยจะมีการพัฒนาที่ดินเปล่าแปลง 37 ไร่ อยู่ระหว่างศึกษาโครงการ และจอีกแปลงเป็นที่ดินของบริษัทเอง จำนวน 723 ไร่