ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) ที่ระดับ “A" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A" โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปใช้ชำระคืนหนี้บางส่วนและสำรองไว้สำหรับการลงทุน
โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นผู้นำในธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย การที่บริษัทมีโรงภาพยนตร์ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ดีกระจายอยู่ทั่วประเทศ และคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ ปริมาณของภาพยนตร์ที่เข้าฉาย ความเป็นที่นิยมของภาพยนตร์ ความเสี่ยงจากการแข่งขันจากกิจกรรมเพื่อความบันเทิงประเภทอื่น ๆ และการละเมิดลิขสิทธิ์สื่อภาพยนตร์
บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป เป็นผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 70% โดยพิจารณาจากรายได้ในสัปดาห์แรกของภาพยนตร์ที่เข้าฉาย บริษัทก่อตั้งในปี 2538 โดยนายวิชา พูลวรลักษณ์ ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 32% บริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 5 ประเภท ได้แก่ โรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่งและคาราโอเกะ สื่อและโฆษณา การให้เช่าพื้นที่และบริการ รวมถึงธุรกิจสื่อภาพยนตร์ โดยรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากธุรกิจโรงภาพยนตร์และธุรกิจโฆษณา ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 รายได้จากธุรกิจโรงภาพยนตร์คิดเป็น 76% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่รายได้จากธุรกิจโฆษณาคิดเป็น 14% ส่วนธุรกิจอื่น ๆ อีก 3 ประเภทมีรายได้คิดเป็นประเภทละประมาณ 2%-5% ของรายได้ทั้งหมด
ณ เดือนมิถุนายน 2560 บริษัทดำเนินกิจการโรงภาพยนตร์ 116 แห่ง โดยมีจำนวนจอภาพยนตร์ทั้งสิ้น 689 จอ ณ ปัจจุบันบริษัทมีจอภาพยนตร์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 348 จอ ในต่างจังหวัด 325 จอ และในต่างประเทศ 16 จอ สำหรับธุรกิจโบว์ลิ่งและคาราโอเกะนั้นบริษัทมีสาขาทั้งหมด 16 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยโบว์ลิ่ง 300 ราง ห้องคาราโอเกะ 174 ห้อง และลานสเก็ตน้ำแข็ง 5 ลาน นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่จำนวน 5 แห่งและมีพื้นที่ให้เช่าขนาด 50,360 ตารางเมตร (ตร.ม.) รวมทั้งยังขยายโรงภาพยนตร์ไปตามห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกสมัยใหม่โดยใช้แบรนด์ที่หลากหลายเพื่อดึงดูดลูกค้าหลาย ๆ กลุ่ม
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวแทนผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์และการมีโรงภาพยนตร์จำนวนมากทั่วประเทศ โดยรายได้จากการเข้าชมภาพยนตร์ขึ้นอยู่กับจำนวนภาพยนตร์ที่เข้าฉาย รวมถึงคุณภาพและความเป็นที่นิยมของภาพยนตร์ การเพิ่มจำนวนโรงภาพยนตร์เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการเติบโตของผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์เนื่องจากจำนวนสาขาที่มากจะช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์มีความเสี่ยงจากการเกิดขึ้นของแหล่งความบันเทิงในรูปแบบอื่น เช่น ระบบความบันเทิงในบ้าน ระบบอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และกิจกรรมนันทนาการอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม กิจกรรมดังกล่าวก็ยังไม่สามารถทดแทนประสบการณ์จากการชมภาพยนตร์ในโรงได้
บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 2% ในปี 2559 และ 4% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากยอดการจำหน่ายตั๋วชมภาพยนตร์และการจำหน่ายอาหารว่างและเครื่องดื่มที่เติบโตขึ้นเนื่องจากมีภาพยนตร์จากฮอลลีวูดที่เป็นที่นิยมหลายเรื่อง รวมทั้งการเพิ่มจำนวนจอภาพยนตร์ บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 30.4% ในปี 2559 เป็น 33.1% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากธุรกิจภาพยนตร์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 62% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายทั้งหมด กำไรส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจสื่อและโฆษณา ทั้งนี้ เนื่องจากธุรกิจสื่อและโฆษณามีค่าใช้จ่ายต่ำ จึงสามารถสร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัทได้อย่างมีนัยสำคัญ
หนี้สินรวมของบริษัทปรับตัวลดลงจาก 5,257 ล้านบาท ในปี 2559 เป็น 4,542 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 ภายหลังจากการชำระคืนเงินกู้ ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลดลงจาก 61.7% ในปี 2559 เป็น 58.6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ระดับ 1,949 ล้านบาทในปี 2559 และอยู่ที่ 1,249 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับเพิ่มขึ้นจาก 21.3% ในปี 2559 เป็น 24.7% ณ เดือนมิถุนายน 2560 (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 4.6 เท่าในปี 2559 เป็น 6.0 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 สำหรับในช่วงอีก 12 เดือนต่อจากนี้บริษัทจะมีภาระในการชำระหนี้จำนวน 3,097 ล้านบาท โดยเป็นหนี้ระยะสั้นจำนวน 1,591 ล้านบาทและหนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดไถ่ถอนจำนวน 1,506 ล้านบาท ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560 บริษัทมีเงินสดจำนวน 671 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้ใช้จากธนาคารหลายแห่งอีกจำนวน 5,361 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับภาระหนี้ดังกล่าว ณ เดือนมิถุนายน 2560 มูลค่าทางการตลาดของเงินลงทุนที่สำคัญของบริษัทเท่ากับ 6,445 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนใน บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (MPIC) ใน บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (SF) และในกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ไลฟ์สไตล์ (MJLF) ซึ่งมูลค่าตลาดที่อยู่ในระดับสูงจากการลงทุนเหล่านี้จะช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้แก่บริษัทในกรณีที่จำเป็น
ทริสเรทติ้ง คาดว่ารายได้รวมของบริษัทในช่วงปี 2560-2562 จะเติบโตในระดับสูงจากจำนวนภาพยนตร์ที่คาดว่าจะได้รับความนิยมจะออกฉายจำนวนมากและแผนการขยายสาขา โดยคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานจะเท่ากับประมาณ 30% ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะเพิ่มจำนวนจอภาพยนตร์ให้เป็น 1,000 จอภายในปี 2563 ส่งผลให้บริษัทต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1,100-1,200 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2560-2562 บริษัทยังมีงบประมาณอีกปีละราว ๆ 400 ล้านบาทในการผลิตภาพยนตร์ไทยและซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศ ดังนั้น จึงคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็นระดับประมาณ 60% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 2,000 ล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 22% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่ระดับประมาณ 4.5 เท่า
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะผู้นำตลาดในธุรกิจโรงภาพยนตร์และรักษาผลประกอบการให้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจเอาไว้ได้ การปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้ายกเว้นในกรณีที่บริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดได้อย่างมากโดยที่สามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้อยู่ในระดับปัจจุบันไว้ได้ อันดับเครดิตอาจได้รับผลกระทบในทางลบหากบริษัทมีการใช้หนี้จำนวนมากในการลงทุนจนส่งผลให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ