นายสันติ กีระนันทน์ ผู้แทนสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน ก.ย.60 ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พ.ย.60) อยู่ที่ 124.13 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง (Bullish) (ช่วงค่าดัชนีระหว่าง 120-160) โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 19.34% จากเดือนที่ผ่านมาที่ 104.01
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยกลุ่มบัญชีนักลงทุนต่างประเทศ และกลุ่มสถาบันภายในประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับทรงตัวมาอยู่ที่ระดับร้อนแรง กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ลดลงเล็กน้อย โดยอยู่ในระดับร้อนแรงเช่นเดิม ขณะที่นักลงทุนรายบุคคลปรับเพิ่มขึ้น โดยอยู่ในระดับทรงตัวเช่นเดียวกับเดือนก่อนหน้า
"ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในภาวะร้อนแรงจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีการฟื้นตัว ในภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว และการเคลื่อนย้ายเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ โดยนักลงทุนเฝ้าติดตามความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมถึงความชัดเจนในทิศทางนโยบายทางการเงินของสหรัฐ สำหรับตลาดหุ้นไทย ดัชนีเคลื่อนไหวปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในช่วงปลายเดือนสิงหาคม"นายสันติ กล่าว
นายสันติ กล่าวว่า สำหรับหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) ส่วนหมวดธุรกิจการเกษตร (AGRI) เป็นหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด โดยปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
สำหรับภาวะการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ส.ค.60 โดยมีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นจากช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศมียอดซื้อสุทธิตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ส.ค.คาดว่ามาจากการปรับพอร์ตลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ ประกอบกับ เงินทุนบางส่วนไหลออกจากภูมิภาคเอเชียกลางจากความเสี่ยงของปัญหาความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยหนุนต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทย
สำหรับภาวะการลงทุนทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นของสหรัฐยังคงมีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในรัฐเท็กซัส สำหรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยและการลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐ ยังคงเป็นประเด็นที่นักลงทุนเฝ้าติดตาม ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจในยุโรปที่มีการฟื้นตัวขึ้นอย่างช้า ๆ ยังคงดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป แม้ว่านักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางยุโรป จะเริ่มทยอยลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้ก็ตาม
นอกจากนี้นักลงทุนเฝ้าติดตามผลการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี และการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนักลงทุนคาดว่าจะไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงมากนัก
ด้านดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือน ก.ย.60 ผลจากดัชนีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวที่ระดับ 1.50% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และ 10 ปี มีทิศทางที่ไม่ชัดเจน โดยระดับความเชื่อมั่นของดัชนีลดลงจากครั้งที่แล้วซึ่งคาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยหลักมาจากอุปทานในตลาดตราสารหนี้ระยะยาวและการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย เดือน ก.ย.60 มีรายละเอียด ดังนี้ ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบเดือนกันยายนนี้ อยู่ที่ระดับ 50 สะท้อนความเชื่อมั่นของตลาดว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% จากปัจจัยหลัก 2 ประการ ได้แก่ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในระดับค่อยเป็นค่อยไป
ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี และ 10 ปี ในช่วงประชุม กนง.รอบเดือน พ.ย. (ประมาณ 9 สัปดาห์ข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 69 และ 68 ตามลำดับ ซึ่งลดลงจากครั้งที่แล้ว (ระดับ 74 และ 75 ตามลำดับ) โดยดัชนีอยู่ในระดับที่สะท้อนถึงทิศทางที่ยังไม่ชัดเจน ผู้ตอบแบบสำรวจมีความเห็นคละกันทั้ง 2 ด้าน คือ ทั้งทิศทางปรับขึ้นและปรับลดลง โดยให้ความสำคัญในสองปัจจัยหลัก คือ อุปทานในตลาดตราสารหนี้ระยะยาว และการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ
นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เปิดเผยถึงสัญญาณเศรษฐกิจไทยภาค Real Sector ว่าเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจนในไตรมาส 2 โดยขยายตัวในระดับ 3.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหรือสูงที่สุดในรอบปี นำโดยภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวในระดับสูงสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างช้าๆ แต่ก็มีสัญญานบวกขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากการลงทุนภาคเอกชนที่พลิกกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส
อย่างไรก็ดีการลงทุนภาครัฐชะลอลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากภาครัฐได้เร่งการเบิกจ่ายไปตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีก่อน ประกอบกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานยังมีความล่าช้าซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมก่อสร้างพลิกกลับมาหดตัว ส่วนอุตสาหกรรมที่ขยายตัวโดดเด่นในปีนี้คือ อุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวเร่งขึ้นอย่างรวดเร็วหลังปัญหาภัยแล้งคลี่คลายและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
ในด้านนโยบายเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้และปีหน้า เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนเงินบาทที่แข็งค่าในปีนี้ส่วนใหญ่มาจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงเป็นสำคัญ โดยหากเทียบกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ ได้แก่ เยน หยวน และยูโร พบว่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในไตรมาส 3 ซึ่งคาดว่าจะยังช่วยสนับสนุนการเติบโตของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง