นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) เปิดเผยว่า บริษัท พร้อมนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เป็นวันแรกในวันที่ 27 ก.ย.ใช้ชื่อย่อ ‘SSP’ ในการซื้อขาย หลังจากได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนในการเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 276,375,000 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 30% ของหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ ในราคาหุ้นละ 7.70 บาท โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันแสดงความต้องการจองซื้อเกินกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรรไว้ประมาณ 9.5 เท่า
ทั้งนี้ SSP แบ่งธุรกิจเป็น 2 กลุ่มคือ 1.ธุรกิจลงทุนและพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และ 2.ธุรกิจลงทุนและพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เป็นต้น
ปัจจุบันมีการรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วจำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการเสริมสร้าง โซลาร์ ในจังหวัดลพบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง 52 MW และมีปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 40 MW ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ Non-Firm มีอายุสัญญา 5 ปี และต่ออายุได้คราวละ 5 ปี ซึ่งได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) 6.5 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 ปีนับจากวันที่เริ่ม COD
บริษัทอยู่ระหว่างการลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยและญี่ปุ่นรวม 8 โครงการ รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 122.4 MW และมีปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญารวม 98 MW แบ่งเป็นโครงการในประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและยังไม่เริ่มก่อสร้าง 1 โครงการ คือ โครงการโซลาร์ อผศ. ในจังหวัดราชบุรี ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 5 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้า Feed-in Tariff (FiT) 4.12 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าตามอายุสัญญา 25 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ได้ภายในไตรมาส 4/61
ส่วนในประเทศญี่ปุ่น มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่อยู่ระหว่างลงทุน 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 โครงการ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญารวม 47 MW ได้แก่ 1.โครงการฮิดะกะ ในจังหวัดฮอกไกโด ปริมาณพลังงงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 17 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT 40 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าตามอายุสัญญา 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 1/61 และ 2.โครงการยามากะ ในจังหวัดคุมาโมโต้ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 30 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT 36 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 2/63
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาแต่ยังไม่ก่อสร้างจำนวน 2 โครงการ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญารวม 36 MW ได้แก่ 1.โครงการโซเอ็น ในจังหวัดคุมาโมโต้ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 6 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT 36 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงคงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าตามอายุสัญญา 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ได้ในไตรมาส 4/61 และ 2.โครงการลีโอ ในจังหวัดชิซุโอกะ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 30 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT 36 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ภายในไตรมาส 2/63
ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาขั้นต้นอีก 1 โครงการ คือ โครงการยามากะ มีปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 10.0 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT 36 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 2/63
ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสนใจเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ในประเทศไทยอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ SNNP 1 ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในจังหวัดสมุทรสาคร กำลังการผลิตติดตั้ง 384 กิโลวัตต์ และโครงการ SNNP 2 ที่อยู่ระหว่างพัฒนาและยังไม่เริ่มก่อสร้างในจังหวัดราชบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง 998 กิโลวัตต์ ซึ่งทั้ง 2 โครงการ มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่อ้างอิงอัตราตามค่าไฟฟ้าฐานขายปลีกจาก กฟภ. และค่า Ft ขายปลีกเฉลี่ย โดยมีบริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าระยะเวลา 25 ปี คาดว่าทั้ง 2 โครงการจะ COD ในไตรมาส 4/60
“เราให้ความสำคัญกับการลงทุนและพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าครบ 200 MW ภายในปี 2563 เพื่อยกระดับสู่บริษัทพลังงานชั้นนำแห่งเอเชีย โดยจะเป็นผู้ผลิตและจัดหาพลังงานที่ยั่งยืนควบคู่กับการส่งเสริมสนับสนุนสิ่งแวดล้อมที่สะอาดอย่างมั่นคงเพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคม" นายวรุตม์ กล่าว
นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ กรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจของ SSP จะได้รับผลดีจากความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยและในประเทศญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายของภาครัฐที่ให้การสนับสนุนการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง