บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เตรียมลงทุนด้านดิจิตอลเพื่อก้าวสู่ IRPC 4.0 วงเงินลงทุน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกที่ปรึกษาคาดว่าจะได้ข้อสรุปในไตรมาส 4/60 และน่าจะเริ่มลงทุนได้ภายในต้นปี 61 ขณะที่เตรียมสรุปการลงทุนโครงการ BEYOND EVEREST ในช่วงไตรมาส 1/61 ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีการลงทุนในส่วนของโรงอะโรเมติกส์ มูลค่า 800-900 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากมีความคุ้มค่าการลงทุน
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ IRPC เปิดเผยว่า บริษัทจะลงทุนด้านเทคโนโลยีภายใต้โครงการ IRPC 4.0 เพื่อนำมาพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัท และเพิ่มกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย และภาษี (EBIT) ได้ราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี โดยใช้งบลงทุน 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯในช่วง 2 ปี ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการคัดเลือกที่ปรึกษา คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 เดือนนี้ และจะเริ่มลงทุนในต้นปี 61 โดยลักษณะของเทคโนโลยีที่ลงทุน ได้แก่ การลดขั้นตอนการสั่งซื้อสินค้า จากเดิมทำได้ 85 วัน ก็จะเหลือเพียง 30 วัน เป็นต้น
ขณะที่วันนี้บริษัทได้จัดงาน IRPC Business Forum 2017 ภายใต้แนวคิด"พลิกโฉมธุรกิจ พิชิตภารกิจ 4.0" ครั้งที่ 3 เพื่อเป็นเวทีแบ่งปันความรู้เปิดมุมมองใหม่เศรษฐกิจไทยยุค 4.0 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศ และทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกมาร่วมให้ความรู้ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถนำไปปรับใช้เป็นแนวทางในการวางแผนและดำเนินธุรกิจ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ IRPC 4.0 ในการนำระบบดิจิตอล และนวัตกรรมทันสมัยมาใช้ในขั้นตอนของธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
สำหรับการดำเนินโครงการ EVEREST เพื่อเพิ่มขีดความสามารถองค์กรในทุกด้านนั้น มั่นใจว่าจะสามารถสร้าง EBIT ในปีนี้ได้ตามเป้าหมายที่ 7 พันล้านบาท แม้ว่าในครึ่งปีแรกจะทำได้เพียง 2.35 พันล้านบาทซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากช่วงครึ่งปีแรกมีการปิดซ่อมบำรุงโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ (UHV) บางหน่วย แต่ในครึ่งปีหลังโครงการ UHV จะกลับมาเดินเครื่องผลิตตามปกติ
ประกอบกับในไตรมาส 4/60 จะเริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ของโครงการขยายกำลังการผลิตของโรงงานโพลีโพรพิลีน (PP) ขนาด 300,000 ตัน/ปี เข้ามาเสริม ทำให้กำลังการผลิตของ PP ทั้งหมดจะเพิ่มเป็น 775,000 ตัน/ปี ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยให้ส่วนต่าง (สเปรด) ของ PP เพิ่มขึ้นอีก 300 เหรียญ/ตัน
กรณีดังกล่าวจะช่วยหนุนให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปีนี้สูงกว่าระดับ 1.74 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้ว ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรก EBITDA ของบริษัทอยู่ที่ราว 7.2 พันล้านบาท พร้อมกับมั่นใจว่า EBITDA ของบริษัทในปี 63 จะขึ้นไปอยู่ระดับ 2.9 หมื่นล้านบาท
ด้านกำไรขั้นต้นจากผลิตของกลุ่ม (GIM) ในช่วงครึ่งหลังปีนี้คาดว่าจะสูงกว่าราว 14 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องประสิทธิภาพการกลั่นเพิ่มขึ้น จากการปรับปรุงโรงงานในช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้ GIM มีแนวโน้มที่สูงขึ้นตาม
นายสุกฤตย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนในโครงการ BEYOND EVEREST ที่เป็นโครงการต่อยอดจากโครงการ EVEREST บริษัทจะนำแผนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในไตรมาส 1/61 โดยแผนเบื้องต้นจะมีการสร้างโรงงานอะโรเมติกส์ ขนาด 800,000-900,000 ตัน/ปี ใช้เงินลงทุน 800-900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อนำมาเป็นผลิตภัณฑ์โพลีเอสเตอร์ และ PET ซึ่งบริษัทเล็งเห็นถึงความต้องการใช้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของโลกที่เติบโตในระดับ 3.5% ต่อปี และเป็นการผลักดันให้บริษัทก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตอะโรเมติกส์ระดับโลก
ส่วนกรณีที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บ้านแลง ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้สั่งการตรวจสอบการใช้อำนาจของรมว.มหาดไทยกับพวก ขัดต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยกรณีอนุญาตให้ IRPC ใช้ประโยชน์จากที่ดินสาธารณะ ต.บ้านแลง จ.ระยองนั้น บริษัทยืนยันว่ากระบวนการในการใช้ที่ดินสาธารณะดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อที่ 70 ไร่ บริษัทได้ทำถูกต้องตามขั้นตอนและกระบวนการใช้ที่ดินทั้งหมด
ปัจจุบันบริษัทได้ปฏิบัติตามมาตรการ 9 ของกฏหมายที่ดินเพื่อเช่าที่ดินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ โดยได้รับใบอนุญาตให้เช่าเมื่อปลายปี 59 ซึ่งการเช่าพื้นที่ตามมาตรา 9 นั้นเป็นกระบวนการที่บริษัทสามารถดำเนินการใช้ที่ดินระหว่างการรอกระบวนการตามมาตรา 8 ในการที่บริษัทต้องแลกเปลี่ยนที่ดินสาธารณะในเขตประกอบการของบริษัท กับทางอบต.บ้านแลง ซึ่งกระบวนการแลกเปลี่ยนที่ดินดังกล่าวมีความล่าช้า เพราะบริษัทต้องมีการสรรหาที่ดินที่สามารถใช้เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ได้ เพื่อมาแลกเปลี่ยนที่ดินที่บริษัทเช่าอยู่ และราคาประเมินที่ดินได้มีการปรับเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทต้องจัดสรรเงินเพื่อนำไปใช้แลกเปลี่ยนที่ดินเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความล่าช้าของกระบวนการ ซึ่งปัจจุบันใกล้ได้ข้อสรุปของที่ดินที่จะมาแลกตามมาตรา 8 แล้ว
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงใช้ที่ดินที่เช่าในต.บ้านแลง จ.ระยอง ตามมาตรา 9 ที่เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฏหมาย และยืนยันว่าที่ดินสาธารณะที่บริษัทใช้ที่มีข้อพิพาทนั้น บริษัทมีการพัฒนาเพื่อเป็นประโยชน์ของทุกชุมชน เช่นเดียวกับที่ดิน 2 แปลงที่พัฒนาเป็นโรงงานของบริษัทก่อนหน้านี้ คือ ที่ดินต.เชิงเนิน จ.ระยอง และที่ดินต.ตะพง จ.ระยอง ที่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฏหมายทั้งมาตรา 8 และมาตรา 9 อย่างถูกต้อง ซึ่งที่ดิน 3 แปลง รวมพื้นที่กว่า 200 ไร่
“เรายืนยันว่าที่ดินต.บ้านแลง จ.ระยอง ทำถูกต้องตามขั้นตอนทางกฏหมายอย่างแน่นอน เหมือนกับที่ 2 ตำบลก่อนหน้าที่กระบวนการเสร็จสิ้นไปแล้ว ตอนแรกเราก็จะทำมาตรา 8 และ 9 ควบคู่กันไป แต่กระบวนการแลกเปลี่ยนพื้นที่ให้กับอบต.บ้านแลง เกิดความล่าช้า ทำให้เราต้องทำตามมาตรา 9 เพื่อใช้ที่ดิน และการใช้ที่ดินของ IRPC นั้นเราไม่ได้มองแค่บริษัทแต่อย่างเดืยว เรามองไปถึงการพัฒนาชุมชน เพื่อประโยชน์ของทุกคนในชุมชน ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นเรายังคงใช้ที่ดินดังกล่าวอยู่ เพราะเราทำถูกต้องตามกฏหมายทุกอย่าง"นายสุกฤตย์ กล่าว