นางภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนนี้ประเมินว่าดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสปรับขี้นแตะระดับ 1,700 จุดได้ และในระยะ 12 เดือนข้างหน้าเป้าหมายดัชนีฯ อยู่ที่ 1,766 จุด โดยมองภาพรวมตลาดหุ้นไทยสดใสขึ้น จึงแนะให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นไทยเป็น 60% ของพอร์ตจากเดิม 50% เน้นหุ้นที่ผลประกอบการงวดครึ่งปี หลังมีแนวโน้มเติบโตดี และราคายังปรับขึ้นไม่มาก เพราะจะฟื้นตัวได้ดี เมื่อตลาดผ่านการปรับฐานไปแล้ว
“หุ้นอาจมีการพักฐานบ้าง เพราะขึ้นมาค่อนข้างเร็ว เป็นเรื่องปกติ เรามองภาพตลาดจากนี้ไปจนถึงปีหน้าดีขึ้นช่วง 3 เดือนนี้น่าจะได้เห็นดัชนีฯแตะ 1,700 จุด ปีหน้าก็ยังขยับขึ้นได้อีก เป้าหมายปี หน้าเราทำไว้อยู่ที่ 1,766 จุด" นางภรณี กล่าว
ปัจจัยหนุนตลาดหุ้นไทยมีทั้งในและต่างประเทศ โดยต่างประเทศ มองว่าเศรษฐกิจโลกปี 60-61 ยังฟื้นตัวตัวต่อเนื่องทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา เช่น สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจแข็งแกร่งทั้งภาคการผลิตและการบริโภค ตลาดแรงงานมีการจ้างงานเต็มที่ อัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทำให้ปีนี้สหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้ง และคาดว่าจะขึ้นอีกครั้งปลายปี พร้อมทั้งเตรียมลดขนาดงบดุลลง 50% จากยอดสินทรัพย์ 4.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่ยุโรปและและอังกฤษเศรษฐกิจเติบโตเช่นกัน และเป็นประเทศที่คาดว่าจะใช้นโยบายการเงินตึงตัว โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 61 ตามสหรัฐฯ แต่ยุโรปยังมีปัญหาหนี้สาธารณะในบางประเทศ รวมถึงความเสี่ยงว่าสหภาพยุโรปจะแตกสลาย หากมีบางประเทศจะแยกตัวออกจากยุโรปเหมือนอังกฤษ (Brexit) เช่น อิตาลีที่จะมีการเลือกตั้งในไตรมาสแรกปีหน้า
สำหรับเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศกลับมาฟื้นตัว จากการส่งออกที่เติบโต ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว หลักๆ มาจากจีนและอินเดียที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง สะท้อนจาก GDP Growth ครึ่งปีแรก ขยายตัวดีกว่าที่ IMF คาดการณ์ ภาพรวมการใช้นโยนบายการเงินในประเทศกำลังพัฒนายังคงผ่อนคลาย แม้มีบางประเทศที่ลดดอกเบี้ยสวนกระแสโลก เช่น รัสเซีย และอินเดีย
นางภรณี กล่าวถึง เศรษฐกิจไทยว่าในปี 61 จะขยายตัวดีขึ้นแตะระดับ 4% จากคาด 3.5% ในปีนี้ ปัจจัยขับเคลื่อนหลัก คือ ภาคส่งออกที่ยังสดใส ควบคู่กับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ โดยในปี 61 จะมีโครงการเปิดประมูลมูลค่าสูงราว 5.5 แสนล้านบาท นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนเริ่มเร่งตัวขึ้น เห็นได้จากยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สิ้นสุดเดือน มิ.ย. 60 สูงถึง 3 แสนล้านบาท เพิ่มจากไตรมาสแรกที่มีเพียง 6 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ 46% ของยอดขอส่งเสริมจาก BOI เป็นการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรม S curve และ New S curve
ส่วน พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งถือเป็นกฎหมายสำคัญอีกฉบับจากทั้งหมด 3 ฉบับ (2 ฉบับแรกผ่านไปแล้วคือ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฉบับแก้ไขใหม่และ พ.ร.บ. เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ) ขั้นตอนปัจจุบันคือ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา
“พ.ร.บ.EEC ถือเป็นตัวสร้างความเชื่อมั่นต่อเอกชนให้เดินหน้าลงทุนในไทย โดยเฉพาะการซื้อที่ดิน เพื่อลงทุนสร้างโรงงาน น่าจะเห็นได้ปลายปีนี้ต่อเนื่องไปปี หน้า เราจะได้เห็นการนำเข้าเครื่องจักร ภาพการลงทุนของเอกชนจะชัดเจนในปีหน้า เป็นต้นไป สัดส่วนการลงทุนภาคเอกชนต่อ GDP จะเพิ่มขึ้น จากตอนนี้ที่ต่ำเพียง 18% เทียบกับ 33% ช่วงก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง" รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย ASPS กล่าว
นางภรณี กล่าวถึงกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ว่า งวดครึ่งปีแรก บจ.มีกำไรรวม 5.13แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 51% ของประมาณการทั้งปี 60 ที่ 9.9 แสนล้านบาท หรือ 101.36 บาทต่อหุ้น เติบโต 7.1% จากปี 59 โดยในครึ่งปีหลังคาดว่ากำไรของหลายกลุ่มอุตสาหกรรมจะทำกำไรได้ดีกว่าครึ่งปีแรก ทำให้ทั้งปีนี้กำไรของ บจ.น่าจะเป็นไปตามที่ฝ่ายวิจัยฯคาด สำหรับปี 61 คาดกำไร บจ.อยู่ที่ราว 1.07 ล้านล้านบาท คิดเป็น 110.4 บาทต่อหุ้น เติบโต 8.9% จากปีนี้
นอกจากนั้น ราคาหุ้น (valuation) ของหุ้นไทยยังน่าสนใจเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น กล่าวคือ ผลตอบแทนของหุ้นไทยปีนี้ยัง underperform กว่าที่อื่นๆและหากมองไปถึง 61 พบว่าเอเชียยังน่าสนใจกว่าตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว โดยคาดหุ้นไทย มี EPS Growth ราว 8.9% และมีโอกาสเติบโตมากกว่านี้หาก GDP Growth เกิน 4% ส่งผลให้Expected P/E ปี 61 ของตลาดหุ้นไทยลดเหลือ 15 เท่าจาก 16.4 เท่าในปี 60 ท ให้ดึงดูด fund flow จากนักลงทุนต่างชาติ
ปัจจุบันการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทย (Foreign Holing) อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบกว่า 14 ปี ล่าสุดเดือน ส.ค. 60 มียอดปิดโอนทะเบียนเป็นชื่อนักลงทุนต่างชาติ 24.16% และปิดโอนในชื่อ NVDR อีก 6.78% รวมเป็น 30.94% จากที่เคยสูงสุด 36.88% ในช่วงต้นปี 55 รวมทั้งการซื้อ-ขายสุทธิสะสมของนักลงทุนต่างชาติที่เป็นมูลค่าตลาดก็ยังไม่สูง เมื่อเทียบกับช่วงปี 52 จนถึงกลางปี 56 ที่ต่างชาติซื้อสะสมหุ้นไทยคิดเป็นมูลค่าตลาด 4.7แสนล้านบาท แต่หลังจากนั้นขายออกต่อเนื่อง จนมูลค่าซื้อสุทธิสะสมเข้าใกล้ศูนย์ช่วงปลายปี 58 จากนั้นก็เห็นแรงซื้ออกลับเข้ามาเพียงเล็กน้อยในปี 59 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมียอดซื้อสุทธิสะสมอยู่ที่ราว 1.12 แสนล้านบาท แต่ยังต่ำมากเมื่อเทียบกับ 4.7แสนล้านบาท สะท้อนว่าการถือครองหุ้นของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะที่ under-owned
นางภรณี กล่าวว่า กลยุทธ์การลงทุนในไตรมาสสุดท้ายของปี 60 เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าผลประกอบการครึ่งปีหลังจะเติบโตดี คือ กลุ่มเกษตร กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มขนส่ง กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มค้าปลีก นอกจากนี้เลือกหุ้นที่มีประเด็นสนับสนุน เช่น Domestic Play ที่อิงเศรษฐกิจในประเทศ คือ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และ Global Play ที่อิงกับกระแสการฟื้นตัวของโลก คือ กลุ่มพลังงาน และกลุ่มส่งออก เป็นต้น