นายณัฐนัย อนันตรัมพร กรรมการผู้จัดการ บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม (ITEL) เปิดเผยว่า บริษัทจะเข้าร่วมพิธีลงนามในสัญญาโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในวันพรุ่งนี้
สำหรับโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน ITEL เป็นผู้ชนะการประมูลในสัญญาการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง กลุ่มที่ 4 (ภาคกลาง-ภาคใต้) จำนวน 24 จังหวัด รวมถึงกลุ่มที่ 5 (พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา กับ 4 อำเภอ ใน จ.สงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี และอ.สะบ้าย้อย) คิดเป็นมูลค่างานรวมทั้งสิ้น 1,868 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อ กสทช.มีการลงนามในสัญญาดังกล่าวแล้ว จะทำให้บริษัทมีงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) อยู่ที่ ประมาณ 3,117 ล้านบาท จาก Backlog ณ สิ้นไตรมาส 2/60 อยู่ที่ 1,249 ล้านบาท โดยในส่วนของสัญญาการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง กลุ่มที่ 4 และ กลุ่มที่ 5 มูลค่า 1,868 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้ภายในปีนี้ประมาณ 120 ล้านบาท
“ณ สิ้นไตรมาส 2/60 บริษัทมี Backlog อยู่ที่ 1,249 ล้านบาท และเมื่อรวมกับโครงการอินเทอร์เน็ตพื้นที่ชายขอบ สัญญาที่ 4 และอีก 1,868 ล้านบาท ทำให้บริษัทมี Backlog อยู่ที่ราว 3,117 ล้านบาท โดยยังไม่รวมโครงการให้บริการโครงข่ายใยแก้วนำแสงบนดิน ซึ่งเป็นการทำแบ็กอัพโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำของบริษัท คัมปานา จำกัด เชื่อมต่อประเทศเมียนมา-ไทย-สิงคโปร์ อีก 600 ล้านบาท"นายณัฐนัย กล่าว
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 60 มั่นใจว่ารายได้จะเติบโต 30-40% แตะที่ระดับ 1,000 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 850 ล้านบาท โดยในปี 59 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 809.29 ล้านบาท เนื่องจากการขยายฐานลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งธุรกิจให้บริการเช่าโครงข่ายใยแก้วนำแสง ให้บริการออกแบบ ก่อสร้าง และรับเหมางานโครงการสายใยแก้วนำแสงและโครงการสื่อสัญญาณโทรคมนาคม รวมถึงบริการเช่าพื้นที่ดาต้า เซ็นเตอร์ โดยแนวโน้มช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก
โดยธุรกิจการให้บริการโครงข่าย คาดว่าจะมีรายได้เติบโต 30-40% จากปี 59 ที่มีรายได้อยู่ที่ 409.93 ล้านบาท เนื่องจากมีการรับรู้รายได้จากการให้บริการโครงข่ายกับลูกค้า เช่น บมจ.เมืองไทย ลิสซิ่ง (MTLS) บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, บมจ. อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEONTS) บมจ.ทิพยประกันภัย (TIP) บมจ.สินมั่นคงประกันภัย (SMK)
ขณะเดียวกันธุรกิจการให้บริการติดตั้งโครงข่าย คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 250-350 ล้านบาทจากปี 59 ที่มีรายได้อยู่ที่ 344.49 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจการให้บริการพื้นที่ดาต้า เซ็นเตอร์ คาดว่าจะมีรายได้เติบโต 15% จากปี 59 ที่บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 51.37 ล้านบาท เนื่องจากรับรู้รายได้จากการเช่าพื้นที่ดาต้า เซ็นเตอร์แห่งแรก จำนวน 348 แร็คส์ โดยปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาเช่าใช้พื้นที่อยู่ที่ 95%
นอกจากนี้ ดาต้า เซ็นเตอร์ แห่งที่ 2 จำนวน 624 แร็คส์ ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนกับพันธมิตร 2 ราย ได้แก่ บมจ.แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (AIT) และ บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) คาดว่าจะได้เซ็นสัญญากับลูกค้ากลุ่มราชการ เพื่อเช่าใช้พื้นที่ 8% ในช่วงเดือน ต.ค.60 และตั้งเป้าหมายจะมีลูกค้าเซ็นสัญญา 30% ภายในสิ้นปีนี้