ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ BH ที่ “A+" ด้วยแนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 27, 2017 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) ที่ระดับ “A+" โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทย ตลอดจนตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และฐานะการเงินที่แข็งแรงของบริษัท อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงของบริการด้านสุขภาพทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดระหว่างประเทศ รวมถึงข้อจำกัดของบริษัทจากการมีโรงพยาบาลหลักเพียงแห่งเดียว และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจทำให้จำนวนผู้ป่วยต่างชาติลดลง

บริษัทโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ดำเนินกิจการโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล" บริษัทเป็นผู้นำในการให้บริการด้านสุขภาพภาคเอกชนของประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชีย โรงพยาบาลของบริษัทมีความสามารถในการให้บริการผู้ป่วยนอกจำนวน 6,260 คนต่อวันและมีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยในทั้งหมด 676 เตียง (รวมโรงพยาบาล Ulaanbaatar Songdo ในประเทศมองโกเลีย) บริษัทเน้นให้บริการผู้ป่วยในระดับตติยภูมิ โดยในแต่ละปีบริษัทมีจำนวนผู้ป่วยชาวต่างประเทศมากกว่า 50% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่เข้ารับบริการ ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้จากกลุ่มผู้ป่วยที่ชำระเงินเองคิดเป็นประมาณ 70% ของรายได้รวม

สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทสะท้อนถึงชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักและผลงานทางการแพทย์ที่เป็นที่ยอมรับมานานกว่า 30 ปี บริษัทเน้นกลุ่มลูกค้าผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มีรายได้สูงโดยใช้กลยุทธ์สร้างความแตกต่างด้านบริการและคุณภาพ บริษัทมีความสามารถในการสร้างรายได้ต่อผู้ป่วยที่แข็งแกร่งมากซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดและรักษาบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่มีคุณภาพเอาไว้

บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติประมาณ 60%-65% ของรายได้ทั้งหมด ทั้งนี้ สัดส่วนจำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่อยู่ในระดับสูงทำให้ฐานรายได้และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเติบโตขึ้นเนื่องจากผู้ป่วยต่างชาติมีระยะเวลาการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่นานกว่าและมีความซับซ้อนของโรคที่สูงกว่า นอกจากนี้ การรับผู้ป่วยที่มีสัญชาติหลากหลายยังช่วยให้บริษัทลดการพึ่งพิงอุปสงค์ด้านการบริการสุขภาพภายในประเทศลงด้วย

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยจากภูมิภาคตะวันออกกลางคิดเป็น 21%-24%ของรายได้ทั้งหมด ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากคลีนิคในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งรัฐบาลพยายามส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศของตนเพิ่มขึ้นส่งผลทำให้จำนวนผู้ป่วยจากตะวันออกกลางที่เดินทางมารักษาตัวในประเทศไทยลดลง

ในปี 2559 บริษัทมีรายได้จากผู้ป่วยชาวตะวันออกกลางลดลง 6% เมื่อเทียบกับปี 2558 ในขณะที่รายได้จากผู้ป่วยชาวไทยเติบโตขึ้น 5% และผู้ป่วยจากประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (กลุ่มประเทศ CLMV) เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปี 2558 ส่งผลให้รายได้รวมของบริษัทอยู่ที่ 17,915 ล้านบาท โดยเติบโต 1% เมื่อเทียบกับปี 2558 การให้ความสำคัญกับการให้บริการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนและการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพของบริษัทส่งผลทำให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้น โดยบริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้เพิ่มขึ้นจาก 30.6% ในปี 2558 เป็น 32% ในปี 2559 ซึ่งส่งผลทำให้บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากระดับ 5,436 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 5,709 ล้านบาทในปี 2559

โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 รายได้จากผู้ป่วยชาวไทยเติบโต 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 ในขณะที่รายได้จากผู้ป่วยชาวตะวันออกกลางยังคงปรับตัวลดลง 7% อย่างไรก็ตาม กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 5.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2559 เป็น 3,071 ล้านบาท อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ยังคงปรับตัวดีขึ้นจาก 32.4% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 เป็น 35% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560

ในอนาคตภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดหมายว่าบริษัทจะมีรายได้ค่อนข้างทรงตัวในปี 2560 และจะค่อยๆ เติบโตประมาณ 5% ต่อปีในช่วงปี 2561-2563 โดยที่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแรงเฉลี่ยที่ประมาณ 30% ในช่วงเวลาเดียวกัน

บริษัทตัดสินใจชะลอแผนการขยายธุรกิจออกไปเป็นปี 2562 ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยที่ลดลงประกอบกับความสามารถในการรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นของอาคารโรงพยาบาลในปัจจุบันทำให้แผนการขยายโครงการของบริษัทที่ถนนเพชรบุรีและสุขุมวิทซอย 1 ชะลอออกไปเป็นปี 2562 ปัจจุบัน บริษัทมีอัตราเฉลี่ยการใช้บริการของผู้ป่วยนอก 54% ของความสามารถในการให้บริการต่อวัน ในขณะที่อัตราการครองเตียงของผู้ป่วยในอยู่ที่ประมาณ 70% ของความสามารถในการให้บริการ ทั้งนี้ คาดว่าโรงพยาบาลของบริษัทจะยังคงสามารถรองรับปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นได้อีกใน 3-5 ปีข้างหน้า

บริษัทวางแผนค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่ประมาณ 18,000 ล้านบาทในช่วงปี 2560-2563 โดยเงินลงทุนดังกล่าวรวมถึงงบประมาณสำหรับการขยายโรงพยาบาลใหม่ขนาด 200 เตียงจำนวน 8,200 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอีกปีละ 600 ล้านบาท

อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 ยังคงแข็งแกร่งโดยอยู่ที่ระดับ 20.94% เมื่อพิจารณาแผนการลงทุนของบริษัทแล้วคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับประมาณ 22%-25% ในช่วงปี 2560-2561 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 37% ในช่วงการก่อสร้างโรงพยาบาลใหม่ในระหว่างปี 2562-2563

บริษัทมีสภาพคล่องค่อนข้างแข็งแกร่ง โดย ณ เดือนมิถุนายน 2560 บริษัทมีเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดรวม 7,816 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ระดับประมาณ 5,500-6,000 ล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2560-2563 โดยบริษัทจะมีการจ่ายเงินปันผลปีละประมาณ 1,600-1,800 ล้านบาท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายที่บริษัทจะสามารถรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนสำหรับคนไข้รายได้สูงเอาไว้ได้และจะยังคงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งต่อไป โดยปริมาณเงินสดคงเหลือที่ค่อนข้างสูงและกระแสเงินสดที่มีเสถียรภาพจะช่วยให้บริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอในช่วงที่มีการลงทุนและขยายธุรกิจในอนาคต

อันดับเครดิตของบริษัทมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทประสบความสำเร็จในการเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจในขณะที่ยังคงสามารถรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเอาไว้ ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทลดลงอย่างมากจากระดับปัจจุบันซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรและสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ