บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ 3 การไฟฟ้า เซ็นสัญญาจ้างมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เพื่อทำ“โครงการศึกษาความเหมาะสมและแนวทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสำรองไฟฟ้า" โดยมีระยะเวลาในการศึกษา 7 เดือน มีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายงานผลการศึกษาที่ได้ มาประกอบการวางแผนพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ (Grid Energy Storage) เพื่อรองรับปริมาณการผลิตและใช้ไฟฟ้าในอนาคต
นายเจน นำชัยศิริ ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า อุตสาหกรรมสำรองไฟฟ้า หรือ แบตเตอรี่เป็น Quick win project สำหรับการตั้งนิคมอุตสาหกรรม New S-Curve เนื่องจากมีความพร้อมทุก ๆ ด้าน จึงเชื่อว่าสามารถเริ่มลงทุนได้เป็นกลุ่มแรกๆ และจะเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นฐานกำลังอันสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอีกหลายแขนง เช่น การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของทั้งประเทศ ยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและอื่น ๆ
นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ EA กล่าวว่า โครงการศึกษาความเหมาะสมและแนวทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสำรองไฟฟ้าดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก 4 เดือน และระยะที่ 2 อีก 3 เดือน หลังจากที่ส่งผลการศึกษาให้แก่รัฐบาลแล้ว เชื่อว่าจะได้รับมาตรการสนับสนุนและสิทธิพิเศษทางภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และคาดหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเข้ามาเพิ่มเติม หากการศึกษาออกมาประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ เมื่อผลการศึกษาประสบความสำเร็จ บริษัทได้วางแผนก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ระยะที่ 1 ซึ่งมีกำลังผลิตอยู่ที่ 1 กิกะวัตต์-ชั่วโมง (GWh) ใช้เงินลงทุน 2-3 พันล้านบาท คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการผลิตได้ภายในช่วงสิ้นปี 61 และจะเริ่มรับรู้รายได้เข้ามาภายในช่วงครึ่งแรกของ 62 เป็นต้นไป และกำลังการผลิตในส่วนที่เหลืออีก 49 GWh งบลงทุน 9.8 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้หลังจากสามารถสรุปพันธมิตรร่วมทุนแล้ว
"เราจะเริ่มก่อสร้างการผลิตแบตเตอรี่ในเฟสแรก 1 GWh ก่อน ประมาณช่วงสิ้นปี 61 ซึ่งต้องทำหลังจากที่ผลการศึกษาออกมา ซึ่งใช้เวลาในการศึกษาประมาณ 7 เดือน เฟสแรกหลังเริ่มการผลิตแล้วจะเริ่มรับรู้รายได้เข้ามาในปี 62 เป็นต้นไป โดยระหว่างนั้นเราเชื่อว่าจะมีพันธมิตรให้ความสนใจเข้ามาร่วมทุนก่อนที่จะสรุปและดำเนินโครงการในเฟสที่ 2"นายอมร กล่าว
นายอมร กล่าวว่า บริษัทยังมั่นใจว่ารายได้ปีนี้จะทำได้ตามเป้าหมายเติบโต 27% จากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 1.04 หมื่นล้านบาท เพราะปีนี้จะรับรู้รายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าเข้ามาตามกำลังการผลิตครบทั้งสิ้น 404 เมกะวัตต์ จากการรับรู้รายได้เข้ามาเต็มปีของโรงไฟฟ้า จ.พิษณุโลก กำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม จ.สงขลา และนครศรีธรรมราช กำลังการผลิต 126 เมกะวัตต์ (โครงการหาดกังหัน 1-3)
นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ในประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ซึ่งคาดว่าจะพร้อมสรุปความชัดเจนด้านพันธมิตรได้ทั้งหมดภายในปี 61 โดยการลงทุนโรงไฟฟ้าทุกแห่งจะมีการใช้แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าร่วมด้วย ซึ่งบริษัทจะเข้าไปเจรจากับการไฟฟ้าของประเทศต่าง ๆ เพื่อเข้าไปลงทุนในพื้นที่ที่ไม่สามารถก่อตั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้สายส่งขนาดใหญ่ได้ และจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่พื้นที่บริเวณใกล้เคียงเท่านั้น โดยตั้งเป้าผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ไม่ต่ำกว่า 15%