นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2560 มีมติอนุมัติให้บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 1 จำกัด (ทีพีซีเอช 1), บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 2 จำกัด (ทีพีซีเอช 2), บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 5 จำกัด (ทีพีซีเอช 5) และบริษัท ปัตตานี กรีน จำกัด (ปัตตานี กรีน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก (VSPP) และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก (SPP) โดยว่าจ้างบมจ.ไทยโพลีคอนส์ (TPOLY) เป็นผู้ก่อสร้างทั้ง 4 โครงการ มูลค่าก่อสร้างรวม 3,172.77 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยผลักดันให้กำลังการผลิตไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทขึ้นแตะ 200 เมกะวัตต์ (MW) ในปี 63
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้า ทีพีซีเอช 1,2 และ 5 บริษัทเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 65% โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในรูปแบบ Feed-in-Tariff พ.ศ. 2559 โดยมีอายุสัญญา 20 ปี นับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์และได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (FiT Premium) ในอัตรา 0.30 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 8 ปีนับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ โดยมีกำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญา (SCOD) ในวันที่ 31 ธันวาคม 2561
ส่วนโครงการปัตตานี กรีน บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 65% จะจำหน่ายไฟฟ้า ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในรูปแบบสัญญา Non-Firm โดยมีอายุสัญญา 5 ปีและต่อเนื่องและจะได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในอัตรา 1.30 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 7 ปี นับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ โดยมีกำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญา ในวันที่ 1 มีนาคม 2562
“ต้องขอขอบคุณผู้ถือหุ้นที่ไว้วางใจอนุมัติให้บริษัทย่อยลงทุนก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล จำนวน 4 แห่ง และให้ TPOLY บริษัทแม่เข้าทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยโครงการทีพีซีเอช1 และทีพีซีเอช2 มีขนาดกำลังการผลิตเสนอขายไม่เกิน 9.2 เมกะวัตต์ ทีพีซีเอช 5 มีขนาดกำลังการผลิตเสนอขายไม่เกิน 6.30 เมกะวัตต์ และโครงการปัตตานี กรีน มีขนาดกำลังการผลิตเสนอขายไม่เกิน 21 เมกะวัตต์ ซึ่งในอนาคตหลังจากที่โครงการดังกล่าวสามารถเดินเครื่องจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ได้เรียบร้อยแล้วจะส่งผลบวกต่อผลประกอบการและทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนที่ดีอีกด้วย"นางกนกทิพย์ กล่าว