นายธีรวัต อมรธาตรี กรรมการผู้จัดการ บมจ.บางกอกชีทเม็ททัล (BM) คาดว่าจะได้ข้อสรุปแนวทางการเข้าถือหุ้นบริษัท ของพันธมิตรชาวญี่ปุ่น ในวันที่ 4 ต.ค.นี้ โดยพันธมิตรร่วมทุนดังกล่าวมีความต้องการเข้าถือหุ้นสัดส่วนมากกว่า 10% ซึ่งเบื้องต้นบริษัทได้เตรียมเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับบุคคลในวงจำกัด (PP) ซึ่งเป็นพันธมิตรรายดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว 10% หรือคิดเป็น 40 ล้านหุ้น
"ในวันที่ 4 ตุลาคมนี้ เราจะได้ข้อสรุปถึงแนวทางการเข้ามาถือหุ้นของพันธมิตรญี่ปุ่น และในวันนั้นเราก็จะให้ที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) เข้ามารับฟังและหาแนวทางที่เหมาะสมด้วย"นายธีรวัต กล่าว
นายธีรวัต กล่าวว่า ในกรณีที่พันธมิตรรายดังกล่าวไม่สามารถเข้ามาถือหุ้นบริษัทในสัดส่วนที่มากกว่า 10% ก็อาจจะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่เพื่อให้ BM สามารถเข้าไปถือหุ้นได้ แต่บริษัทจะถือหุ้นในสัดส่วนเพียง 20% เท่านั้น โดยคาดว่าจะเห็นข้อสรุปเบื้องต้นได้ภายในปีนี้ และในช่วงเดือนม.ค.61 ก็น่าจะเห็นความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในแง่ของการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่และสัดส่วนการลงทุน
"เดิมทีเขาขอซื้อ PP 10% ซึ่งทางเราได้เตรียมไว้ให้แล้ว แต่หลังจากได้ทำธุรกิจร่วมกันเขาก็มีความสนใจที่จะเข้าถือในสัดส่วนที่มากกว่านี้ แต่ผิดกฎตลาดฯ ทำให้เราต้องหาแนวทางร่วมกัน เนื่องจากพันธมิตรชาวญี่ปุ่นเขาต้องการลงทุนกับเราจริง ๆ ก็คาดว่าในวันที่ 4 นี้ จะได้ข้อสรุปดังกล่าว"นายธีรวัต กล่าว
นายธีรวัต กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 3/60 บริษัทคาดรายได้จะเติบโตดีกว่าไตรมาส 2/60 เป็นไปตามยอดขายที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมานั้นอาจจะชะลอตัวและมีกำลังซื้อที่อ่อนตัว รวมไปจนถึงการแข่งขันที่อยู่ในระดับสูง แต่ทางบริษัทยังสามารถสร้างการเติบโตได้ โดยมีกลยุทธ์กระตุ้นยอดขายจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขณะที่ก็มีการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าราคาวัตถุดิบปัจจุบันจะปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ทั้งปีบริษัทยังคงมั่นใจว่ารายได้จะเติบโตไปตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 10%
ส่วนแผนการดำเนินงานในปีหน้า บริษัทจะวางแผนงานในช่วงเดือนต.ค.นี้ ซึ่งในเบื้องต้น ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ปี 61 เฉลี่ย 10-20% เป็นไปตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลดีต่อกำลังซื้อ ประกอบกับมีฐานลูกค้าใหม่เพิ่ม รวมถึงออกสินค้ารูปแบบใหม่
นายธีรวัต กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าของการก่อตั้งโรงงานผลิตเหล็กแปรรูป ในประเทศเมียนมา ร่วมกับพันธมิตรชาวญี่ปุ่น คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ช่วงต้นปี 61 โดยมีกำลังการผลิตเบื้องต้นราว 3,000-5,000 ตัน/ปี และน่าจะสร้างรายได้ราว 100-200 ล้านบาท/ปี