นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ผู้บริหารสายการบินบางกอกอร์เวย์ส คาดว่าผลประกอบการในไตรมาสที่ 3/60 จะพลิกกลับมาเป็นบวก หลังจากไตรมาส 2/60 มีผลขาดทุน 533.61 ล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยว (Low Season) แต่ในไตรมาส 3 จำนวนผู้โดยสาร และอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) ปรับตัวดีขึ้น เพราะเป็นช่วง Summer Holiday ของยุโรป ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของ BA
จากนั้นเชื่อว่าในไตรมาส 4/60 จะมีจำนวนผู้โดยสารดีขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) คาดว่า Load Factor จะสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 68% ใกล้เคียงกับไตรมาส 4/59 และคาดว่าทั้งปีจะมี Load Factor เฉลี่ย 68% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในระดับ 72%
ทั้งนี้ สาเหตุที่ปีนี้ทำผลงานไม่ได้ตามเป้า เพราะอุตสาหกรรมสายการบินมีการแข่งขันราคากันมาก ขณะที่ภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันอากาศยานส่งผลกระทบผลประกอบการโดยตรง อีกทั้งราคาน้ำมันในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 10% จากปีก่อน
"ในเดือนต.ค.ของเรายังไม่ใช่ High Season ปีนี้ดูภาพตลาดไม่หวือหวา แข่งขันกันมาก เดือนพ.ย.-ธ.ค.คาดว่ากลับมาดีขึ้น เราทำโปรโมชั่นไปสมุย และมุ่งหานักท่องเที่ยวภูมิภาคทั้งลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม"นายพุฒิพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ สายการบินบางกอกแอร์เวยส์ เน้นการจัดโปรโมชั่นมากขึ้นกว่าเดิม โดยในเดือน ต.ค.นี้ ได้เปิดขายตั๋วโดยสาร ที่บินจากต่างจังหวัดมากรุงเทพฯ ราคา 690 บาท/เที่ยว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการเดินทางมาร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยเดินทางได้ถึงสิ้นเดือน ต.ค.นี้
นอกจากนี้ ยังจัดโปรโมชั่นในเส้นทางในประเทศ จาก เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน สุโขทัย และ ลำปาง เดินทางตรงไปสมุยได้ในราคาเดียว 6,990 บาทไป-กลับ และรวมทุกอย่าง จากปกติที่ต้องบิน 2 ต่อ อาทิ เชียงใหม่-กรุงเทพ, กรุงเทพ-สมุย รวมราคาตั๋วโดยสารแล้วประมาณ 11,000 บาท
และเส้นทางต่างประเทศจาก พนมเปญ เสียมเรียบ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เวียงจันทน์ และหลวงพระบาง บินตรงไป สมุย ในราคาเดียวที่ 280 เหรียญสหรัฐ ไป-กลับ
ทั้งนี้ โปรโมชั่นดังกล่าวเปิดขายถึงสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ ในปลายปีนี้บริษัทจะรับมอบเครื่องบินใหม่ เป็นแอร์บัส A319 จำนวน 1 ลำ จากปัจจุบันฝูงบินมีจำนวน 38 ลำ แบ่งเป็นเครื่องบินแอร์บัส A320 และ A319 รวม 23 ลำ และเครื่องบินแบบ ATR จำนวน 15 ลำ
และในไตรมาส 4/60 บริษัทจะลงนามสัญญาสายการบินพันธมิตร (Code Share) ในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) อีก 1 ราย จะเพิ่มเป็น 24 สายการบิน ทั้งนี้ BA มีสัดส่วนรายได้จากการร่วมมือแบบ Code Share ราว 50%
นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า ล่าสุด วันนี้สายการบินบางกอกแอร์เวยส์ เปิดเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพ-เกาะฟู้โกว๊ก (เวียดนาม) ให้บริการ 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เริ่มทำการบิน 29 ต.ค.60 โดยใช้เครื่องบินแบบ ATR 72-600 ขนาด 70 ที่นั่ง เพื่อรองรับตลาดนักท่องเที่ยวจากยุโรปและสแกนดิเนเวียนที่นิยมเดินทางมาพักผ่อน โดยราคาตั๋วโดยสาร กรุงเทพ-เกาะฟู้โกว๊ก อยู่ที่ 8,095 บาทไป-กลับ รวมทุกอย่าง และหากเดินทางจากเกาะฟูโกว๊ก ราคาตั๋วอยู่ที่ 166 เหรียญสหรัฐไป-กลับเช่นกัน
"การเปิดเส้นทางบินตรงระหว่าง กรุงเทพ-เกาะฟู้โกว๊ก ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การขยายเครือข่ายเส้นทางบินของบางกอกแอร์เวย์ส ให้ครอบคลุมประเทศในกลุ่ม CLMV เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารที่เดินทางผ่านเที่ยวบินร่วมของสายการบินพันธมิตร (codeshare partners) ในการเดินทางเชื่อมต่อจากกรุงเทพฯ (สนามบินสุวรรณภูมิ) ไปยังเมืองสำคัญและแหล่งท่องเที่ยวในภูมิภาคฯ อาทิ พนมเปญ เสียมราฐ เวียงจันทร์ หลวงพระบาง ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เนปิดอว์ ดานัง และล่าสุด เกาะฟู้โกว๊ก ประเทศเวียดนาม"
เกาะฟูโกว๊ก นับเป็นจุดบินแห่งที่ 2 ที่สายการบินบางกอกแอร์เวย์สทำการบินไปยังเวียดนาม โดยจุดบินแรก คือ ดานัง ที่เปิดทำการบินเมื่อเดือน พ.ค.59 มี Load Factor ในระดับที่ดีประมาณ 70% โดยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เป็นสายการบินต่างประเทศแรกที่ทำการบินประจำไปเกาะฟูโกว๊ก ส่วนสายการบินในยุโรปทำการบินแบบเช่าเหมาลำ
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่ามี Load Factor เส้นทางกรุงเทพ-เกาะฟู้โกว๊ก ในระดับ 70% โดยคาดว่าผู้โดยสารจะเป็นนักท่องเที่ยวจากยุโรป 70% ส่วนชาวไทยและเวียดนามราว 30%
นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า BA จะเพิ่มเส้นทางบินเชื่อมภูมิภาคจากเมืองสู่เมืองมากขึ้น เพราะมองว่าในกรุงเทพฯตารางบินค่อนข้างแน่น ได้แก่ ย่างกุ้ง-ภูเก็ต เปิดบินในช่วงกลางปี 61 ทั้งนี้จะใช้ฐานปฏิบัติการบินในภูมิภาคมากขึ้น ได้แก่ ภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ ส่วนที่อู่ตะเภาปัจจุบันให้บริการแบบเช่าเหมาลำเท่านั้นที่บินไปจีน และสมุย ก็มีเที่ยวบินเช่าเหมาลำบินไปจีน 3 เมือง คือ เฉิงตู ฉงชิ่ง กวางโจว อย่างไรก็ตามยังไม่มีแผนเปิดทำการบินแบบประจำในจีน
สำหรับประเด็นการเข้าลงทุนสนามบินใน จ.พังงา นั้น นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า การดำเนินการสร้างสนามบินแห่งใหม่ในพังงาขึ้นอยู่กับภาครัฐว่าจะเห็นถึงความสำคัญที่ต้องมีสนามบินใหม่หรือไม่ ขณะที่ BA เห็นถึงความสำคัญและจำเป็นต้องมีการพัฒนาสนามบิน เพราะในอนาคตสนามบินภูเก็ตจะไม่สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพียงพอ ซึ่งขณะนี้เริ่มหนาแน่นแล้ว ส่วนสนามบินกระบี่ก็มีแผนขยายสนามบินเช่นกัน
"มองว่า กระบี่ ภูเก็ต พังงา จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตได้ มี potential ... ถ้ารัฐทำเองก็ได้แต่มองว่าถ้าเราทำเองจะทำได้เร็วกว่า เพราะเราได้ทำการศึกษาไว้แล้ว โดยสนามบินในพังงาที่ทำการศึกษาไว้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 4 ล้านคน/ปี ทั้งนี้ขึ้นกับนโยบายของรัฐ แต่ถ้าเราทำเอง 100% อาจจะติดข้อกฎหมาย ข้อบังคับ และต้องมีใบอนุญาต หรือรัฐจะเปิดให้ร่วมทุน จะแบ่งเป็นสัดส่วนอย่างไร"นายพุฒิพงศ์ กล่าว