นายธีรวัต อมรธาตรี กรรมการผู้จัดการ บมจ.บางกอกชีทเม็ททัล (BM) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทได้ประชุมร่วมกับพันธมิตรญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมาเกี่ยวกับแนวทางในการเข้าถือหุ้นบริษัท ซึ่งเป็นการอธิบายและสร้างความเข้าใจให้กับพันธมิตรญี่ปุ่นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการตามขั้นตอนที่หน่วยบานกำกับกำหนด เบื้องต้นบริษัทจะออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) จำนวน 40 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 10% เพื่อจัดสรรให้กับพันธมิตรญี่ปุ่น คาดว่ากระบวนการจะชัดเจนในช่วงที่เหลือของปีนี้ และภายในเดือนนี้จะร่วมประชุมกับพันธมิตรญี่ปุ่นอีกครั้ง
นอกจากนี้ ในการหารือร่วมกัน บริษัทยังได้มีการวางแผนการดำเนินงานต่างๆ ร่วมกับพันธมิตรเพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันในอนาคต เช่น แผนการก่อตั้งโรงงานผลิตเหล็กแปรรูปในประเทศเมียนมา กำลังการผลิต 3,000-5,000 ตัน/ปี ที่เป็นโครงการที่ลงทุนร่วมกับพันธมิตรญี่ปุ่น คาดว่าจะเริ่มดำเนินงานผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 61 การมองหาโอกาสในการเป็นซัพพลายด์เออร์ให้แก่โรงงานที่จะลงทุนในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการพิจารณาความเป็นไปได้ในการผลิตตู้ชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) เป็นต้น
"ได้มีการประชุมร่วมกับพันธมิตรญี่ปุ่นมาสรุปในเรื่อง Time frame ของการเข้ามาถือหุ้นในบริษัท ก็ได้มีการอธิบายกฏระเบียบต่างๆให้เขาเข้าใจ เพื่อทำให้กระบวนการต่างๆเป็นไปตาม Regulation ตอนนี้ก็ใกล้ได้เห็นความชัดเจนแล้ว แต่เราก็ต้องเข้าใจคนญี่ปุ่นที่เขามีความละเอียดมาก ทำให้ขั้นตอนต่างๆมีระยเวลาที่นาน แต่เราทำงานด้วยกันมา 2-3 ปี แล้วก็มีความเข้าใจในการทำงานซึ่งกันและกัน เขาก็พร้อมที่จะเข้ามาแต่งงานกับเรา ซึ่งในเดือนนี้จะมีประชุมกันอีกรอบ และคาดว่าภายในไม่เกินสิ้นปีนี้ก็คาดว่าจะได้ข้อสรุป และก็จะมีการแถลงอย่างเป็นทางการอีกครั้ง"นายธีรวัต กล่าว
สำหรับแนวโน้มรายได้ในปีนี้ยังมั่นใจทำได้เติบโตตามเป้าที่ 10% จากปีก่อน โดยแนวโน้มรายได้ในไตรมาส 3/60 คาดว่าจะออกมาดีกว่าไตรมาส 2/60 ตามปริมาณยอดขายที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาจะชะลอตัว กำลังซื้อที่อ่อนตัว และการแข่งขันที่อยู่ในระดับสูง โดยเพาะในงานขายให้กับผู้รับเหมา ประกอบกับแนวโน้มราคาวัตถุดิบในปัจจุบันจะปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกดดันต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจเหล็กในตลาด แต่การเติบโตของบริษัทจะใช้กลยุทธ์กระตุ้นยอดขาย โดยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่สร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมกับควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสมควบคู่กันไป