(เพิ่มเติม) WHAUP คาดกำไรปี 61 พีคต่อเนื่อง ตามกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่ม พร้อมรุกลงทุนโซลาร์รูฟท็อปขายลูกค้ารง.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 5, 2017 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิเศษ จูงวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) คาดว่ากำไรปี 61 จะทำระดับสูงสุดต่อเนื่องจากปีนี้ หลังจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มขึ้น และการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เพื่อขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเตรียมจะประกาศแผนในช่วงไตรมาส 4/60 ถึงไตรมาส 1/61 ซึ่งมีศักยภาพผลิตไฟฟ้ามากถึง 200 เมกะวัตต์บนพื้นที่หลังคาคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าของตัวเองที่มีอยู่ราว 2.1 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) แต่เบื้องต้นน่าจะดำเนินการได้ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ในปีหน้ายังจะได้รับประโยชน์จากภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลงราว 1% ได้เต็มปี หลังจากที่ได้ออกหุ้นกู้ 4 พันล้านบาทเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และยังมีแผนที่จะออกหุ้นกู้เพิ่มเติมอีกในปีหน้า เพื่อใช้รีไฟแนนซ์และรองรับการลงทุน ซึ่งในปีหน้าบริษัทวางแผนจะใช้เงินลงทุนเบื้องต้นราว 2-2.5 พันล้านบาท จากราว 2 พันล้านบาทในปีนี้ โดยไม่รวมงบสำหรับการซื้อกิจการ (M&A)

"กำไรปีนี้ก็จะพีค ปีหน้าก็จะพีคขึ้นไปอีก เพราะเราจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้า SPP ที่เปิดดำเนินการในปีนี้ได้เต็มปีในปีหน้า และปีหน้าก็จะมีโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ COD อีก 1 โรงในเดือนมกราคม และโครงการโซลาร์รูฟท็อปที่จะเข้ามาเพิ่มเติม และต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลงด้วย"นายวิเศษ กล่าว

ปีที่แล้ว WHAUP มีกำไรสุทธิ 369.48 ล้านบาท และมีรายได้รวม 1.47 พันล้านบาท ขณะที่ในงวดครึ่งแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ 973.33 ล้านบาท และมีรายได้รวม 793.48 ล้านบาท

นายวิเศษ กล่าวว่า บริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการร่วมทุนในมือ 542 เมกะวัตต์ เป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ COD แล้ว 447.1 เมกะวัตต์ ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้า SPP 3 แห่งที่เปิดดำเนินการในปีนี้ ขณะที่ในเดือน พ.ย.นี้จะเปิดโรงไฟฟ้า SPP อีก 1 แห่ง โดยทั้ง 4 แห่งที่ COD ในปีนี้เป็นโรงไฟฟ้าที่ร่วมทุนกับกลุ่มกัลฟ์ โดยถือหุ้นในสัดส่วน ราว 25-30% กำลังการผลิตแห่งละ 130 เมกะวัตต์

สำหรับโรงไฟฟ้าส่วนที่เหลือจะทยอยเปิดดำเนินการ ได้แก่ โรงไฟฟ้า SPP ร่วมทุนกับกลุ่มกัลฟ์จะ COD ในเดือน ม.ค.61 จำนวน 1 แห่ง และ COD ในเดือน ม.ค.62 อีก 1 แห่ง และโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ซึ่งร่วมกับกลุ่ม บมจ.โกลว์พลังงาน (GLOW) จะเริ่ม COD ในเดือน ธ.ค.62 อีก 1 แห่ง ซึ่งจะทำให้ในปี 62 บริษัทจะสามารถ COD โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือได้ครบทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม บริษัทมองหาโอกาสการลงทุนเพิ่มเติม หลังจากที่การเปิดรับซื้อไฟฟ้า SPP รอบใหม่จากภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน และบริษัทก็จะไม่เข้าร่วมประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน SPP Hybrid Firm ด้วยข้อจำกัดเรื่องเชื้อเพลิง หรือโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนที่มีข้อจำกัดเรื่องเจ้าของโครงการ ทำให้บริษัทจะหันมารุกการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าโดยตรง ซึ่งไม่ต้องรอการรับซื้อจากภาครัฐ โดยเฉพาะการทำโครงการโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าของกลุ่มบริษัทที่ปัจจุบันได้ทดลองทำบนหลังคาโรงงานให้เช่า ขนาด 0.9 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งเตรียมเปิดการผลิตในเดือน ต.ค.นี้

เบื้องต้นกลุ่มบริษัทมีพื้นที่คลังสินค้าและโรงงานให้เช่าของตัวเองที่มีอยู่ราว 2.1 ล้าน ตร.ม.นั้น มีศักยภาพทำโครงการโซลาร์รูฟท็อปได้ราว 200 เมกะวัตต์ แต่การดำเนินการได้จริงอาจจะทำได้ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม ยังมีพื้นที่หลังคาในส่วนของลูกค้าที่ซื้อที่ดินในนิคมฯเพื่อสร้างโรงงานเองด้วย ซึ่งบริษัทก็จะเข้าไปเจรจาเพื่อเสนอโครงการขายไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำแผนและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ คาดว่าจะสามารถประกาศแผนงานได้ในช่วงไตรมาส 4/60 ถึงไตรมาส 1/61 และใช้เวลาดำเนินการราว 4 เดือนก็สามารถขายไฟฟ้าได้

นอกจากนี้ ยังมองโอกาสการสร้างโรงไฟฟ้า SPP เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้ลูกค้าในนิคมฯ โดยที่ไม่ต้องขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐ แต่ยังต้องรอข้อกำหนดให้มีความชัดเจนมากขึ้นด้วย หลังปัจจุบันการตั้งโรงไฟฟ้า SPP เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าในนิคมฯ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เชื่อมต่อกับระบบของการไฟฟ้า ซึ่งก็จะทำให้ลูกค้าไม่มีความมั่นใจที่จะซื้อไฟฟ้าจากบริษัทโดยตรง รวมถึงการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน ซึ่งจะร่วมกับพันธมิตรเพื่อเข้าลงทุนในพื้นที่เอกชน ขายไฟฟ้าให้กับเอกชน และการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม เพื่อขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าในนิคมฯ ซึ่งในส่วนนี้จะต้องรอโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมโรงแรกของกลุ่มบริษัทเปิดดำเนินการในปลายปี 62 ก่อน

นายวิเศษ กล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนธุรกิจน้ำนั้น บริษัทศึกษาการลงทุนเพิ่มเติมจากปีที่แล้วที่มีการผลิตและจำหน่ายน้ำอุตสาหกรรมในปริมาณ 82 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 100 ล้านลบ.ม.ในปีนี้ อีกทั้งยังได้ทดลองการนำน้ำเสียมาผลิตเป็นน้ำอุตสาหกรรมเพื่อจำหน่ายเพิ่มเติมด้วย ซึ่งน่าจะนำเข้าระบบได้ในไตรมาส 1/61 ก็จะเป็นโมเดลธุรกิจในรูปแบบใหม่เพิ่มเติมนอกจากปัจจุบันที่ใช้น้ำดิบมาทำน้ำอุตสาหกรรม ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าน้ำอุตสาหกรรมอยู่ราว 700-800 ราย

นายวิเศษ กล่าวอีกว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนธุรกิจน้ำประปาในเมียนมา ขนาดกำลังการผลิต 2.5-5 พันลบ.ม./วัน หรือราว 1.2 ล้านลบ.ม./ปี เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนในเมือง คาดว่าจะได้ข้อสรุปสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกันก็ยังศึกษาธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำอุตสาหกรรมภายในนิคมฯที่เมียนมาด้วย แต่เพิ่งเป็นจุดเริ่มต้นยังไม่ได้มีความชัดเจนมากนัก

ทั้งนี้ บริษัทยังมองโอกาสการขยายลงทุนยังประเทศในกลุ่ม CLMV ทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยในส่วนเมียนมา เน้นในส่วนของธุรกิจน้ำเป็นหลักก่อน ส่วนธุรกิจไฟฟ้ายังมีข้อจำกัดและเงื่อนไขอีกมาก , เวียดนาม จะเป็นการขยายงานตามบริษัทแม่คือบมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ที่จะเข้าไปลงทุนทำนิคมฯ โดยบริษัทก็จะเข้าไปให้บริการในส่วนของธุรกิจน้ำอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน คาดว่าจะเริ่มลงทุนได้ในปี 61 และเริ่มเปิดการผลิตได้ในปี 62 ส่วนธุรกิจไฟฟ้ายังต้องใช้เวลาพิจารณาด้วยราคาค่าไฟฟ้าที่ต่ำกว่าของไทยค่อนข้างมากยังเป็นข้อจำกัดในการลงทุน

ส่วนในลาวปัจจุบันมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำอยู่แล้ว 1 แห่ง ซึ่งโอกาสการพัฒนาในลาวส่วนใหญ่จะเป็นโครงการพลังน้ำ ซึ่งมีระยะเวลาการพัฒนานาน 4-5 ปี ทำให้ยังไม่ได้มองการลงทุนมากนัก

นอกจากนี้ บริษัทก็ไม่ได้ปิดโอกาสการทำดีล M&A ด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นเป้าหมายหลักที่ปัจจุบันจะเน้นการให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าหรือผลิตน้ำเพื่อขายให้กับลูกค้าในประเทศโดยตรง มากกว่าการขายให้กับภาครัฐ

สำหรับการลงทุนในปีหน้า บริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำแผนเพื่อเตรียมเสนอคณะกรรมการบริษัทในเดือนพ.ย. ซึ่งจะมีแผนระยะสั้น 1 ปี และระยะกลาง 3-5 ปี โดยเบื้องต้นงบลงทุนในปีหน้าจะอยู่ที่ราว 2-2.5 พันล้านบาท ใกล้เคียงปีนี้ที่ลงทุนราว 2 พันล้านบาท แม้ว่างบผูกพันของโรงไฟฟ้าเดิมจะลดลง เพราะโรงไฟฟ้าทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว แต่ก็จะมีการลงทุนใหม่ในโครงการโซลาร์รูฟท็อป และธุรกิจน้ำ ซึ่งแหล่งเงินรองรับการลงทุนจะมีทั้งจากกระแสเงินสด ,เงินกู้โครงการ (project finance) หรือการออกหุ้นกู้

โดยปีนี้บริษัทได้ออกหุ้นกู้ไปแล้ว 4 พันล้านบาทจากวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น 5 พันล้านบาท ซึ่งยังคงเหลือวงเงินอีก 1 พันล้านบาท แต่คาดว่าจะขออนุมัติผู้ถือหุ้นเพื่อออกหุ้นกู้เพิ่มเติม เพื่อรองรับการลงทุนและรีไฟแนนซ์ ซึ่งจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายได้ด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังมีแนวคิดที่จะดำเนินการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต แต่เบื้องต้นคงยังไม่เห็นในปีหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ