ผถห.รายย่อย IFEC ร้องก.ล.ต.ยื่นมือตรวจสอบสถานะบริษัท-เป็นตัวกลางแก้ปัญหา

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 6, 2017 14:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจักรกริช ประชุม ทนายความตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อย บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) เปิดเผยว่า ในวันนี้ได้ทำหนังสือถึงนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอให้มีคำสั่งให้กรรมการบริษัท IFEC ทั้ง 3 คนออกจากตำแหน่ง ซึ่งประกอบด้วย 1.นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ 2.นายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ และ 3.พลตรีบุญเลิศ แจ้งนพรัตน์ ซึ่งเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน

เนื่องจากในวันที่ 8 ก.ย.60 ที่ผ่านมา ศาลอาญามีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 1 มาตรา 4 มาตรา 89/1 มาตรา 89/7 มาตรา 281/2 วรรคสอง มาตรา 281/10 พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 70 มาตรา 71 มาตรา 72 (5) มาตรา 85 มาตรา 91 (3) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ประกอบมาตรา 86 มาตรา 90 และมาตรา 91

เช่นเดียวกับนายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ IFEC ซึ่งถูกปลดจากตำแหน่งในช่วงก่อนหน้า หลังถูกกล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เมื่อวันที่ 5 ก.ย.60 จากการที่นายวิชัย ได้กระทำความผิดต่อพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และการถูกกล่าวโทษดังกล่าวทำให้นายวิชัย เข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหาร ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย ยังได้เข้าหารือกับ ก.ล.ต. ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับ IFEC ซึ่งแม้จะมีการปลดนายวิชัย ลงจากตำแหน่งประธานกรรมการ แต่กรรมการบริษัทที่เหลืออยู่ไม่ครบองค์ประชุม เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ไม่รับจดทะเบียนกรรมการชุดใหม่ จากผลการเลือกตั้งในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 2 พ.ค.60 เนื่องจากใช้วิธีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกรรมการด้วยวิธี Cumulative Voting ซึ่งเป็นวิธีการที่มิชอบด้วยกฎหมายและผิดข้อบังคับของบริษัท แต่กรรมการชุดที่เหลือ กลับแจ้งตลาดฯ โดยอ้างมติบอร์ด แต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการชุดใหม่ ทั้งๆที่ไม่มีอำนาจ และ ตลท.ยืนยันว่า กรรมการตรวจสอบไม่ครบ และเป็นเหตุให้บริษัทฯเข้าข่ายถูกเพิกถอน ซึ่งถือเป็นการท้าทายอำนาจฝ่ายตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นสำนักงานก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ และกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะนายทะเบียน

โดยทนายความตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อย กล่าวอีกว่า ผู้ถือหุ้นรายย่อย IFEC ต้องการให้สำนักงานก.ล.ต.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล เร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเข้าไปตรวจสอบสถานะการเงินของ IFEC และเข้าไปเป็นตัวกลางในการหาทางออกร่วมกับกลุ่มผู้ถือหุ้น พร้อมกับเร่งจัดให้มีการจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ เข้ามาฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ เพื่อหยุดยั้งและระงับความเสียหาย ไม่ให้มากไปกว่านี้ เพราะถ้าปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อ มีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทฯอาจถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากไม่มีกรรมการตรวจสอบ และไม่สามารถปิดงบฯได้ตามเกณฑ์กำหนด ซึ่งสร้างความเสียหายร้ายแรงให้กับผู้ถือหุ้นที่มีกว่า 2.7 หมื่นคน มูลค่าตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) กว่า 6.1 พันล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ