สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับกรมบังคับคดี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจำนวน 2 ฉบับในวันนี้ (9 ต.ค.) ได้แก่ การติดตามดูแลบริษัทที่มีการระดมทุนหรือผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้หรือตกเป็นลูกหนี้ในคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 และการจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กร (Enterprise Architecture) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลยิ่งขึ้น
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า การมีระบบการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนและผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนที่ดี มีความสำคัญต่อการสร้างความน่าเชื่อถือของตลาดและการคุ้มครองผู้ลงทุน ความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. และกรมบังคับคดีในวันนี้ จึงถือเป็นการเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องการติดตามกิจการที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและกระบวนการล้มละลาย ซึ่งถือเป็นการยกระดับการใช้บังคับกฎหมายให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการร่วมกันพัฒนาบุคลากร ที่จะช่วยให้มีการวางระบบที่สามารถเชื่อมโยงกระบวนการทำงานเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงทั้ง 2 ฉบับในครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเป็นระบบ ความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงประกอบด้วย ความร่วมมือในการติดตามดูแลบริษัทจดทะเบียน บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ หรือผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ หรือตกเป็นลูกหนี้ในคดีล้มละลาย ด้วยการแลกเปลี่ยนและสนับสนุนข้อมูล ความรู้ ความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงการประสานความร่วมมือระหว่างกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังเป็นความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสบการณ์ในการจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของทั้งสองหน่วยงานให้คุ้มค่า และสมบูรณ์ถูกต้องยิ่งขึ้น
ความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับพันธกิจของ ก.ล.ต. ในการกำกับและพัฒนาตลาดทุนให้น่าเชื่อถือและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์กรมบังคับคดีระยะ 20 ปี เรื่องการเป็นศูนย์ข้อมูลกลางเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ (Debtor Data Center) และบูรณาการการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวมทรัพย์สินในคดีล้มละลาย และฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เพื่อประโยชน์แก่บรรดาเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ตลอดจนการคุ้มครองผู้ลงทุน