นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ บมจ.ถิรไทย (TRT) เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามสัญญาซื้อขาย หม้อแปลงไฟฟ้าชนิดติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันสมบูรณ์ (Completely Self Protect transformer) ขนาด 225 kVA 3 Ph 24000-416/240 V จำนวน 213 เครื่อง สัญญาเลขที่ MP9-8975-BGE มูลค่า 131.73 ล้านบาท กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โดยจะมีการส่งมอบประมาณเดือน ธ.ค.60 ซึ่ง กฟน.จะนำไปติดตั้งในระบบจำหน่ายไฟฟ้าของกฟน.
สำหรับแผนธุรกิจของบริษัทได้ตั้งเป้าหมายยอดขายทั้งกลุ่มไว้ประมาณ 4,290 ล้านบาทในปี 62 โดยใช้กลยุทธ์การขยายฐานตลาดส่งออกหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งจะเน้นตลาดในกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยเน้นลูกค้าที่ต้องการวิศวกรรมการออกแบบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มยอดส่งออกจาก 479 ล้านบาท ในปี 59 เป็น 610 ล้านบาทในปี 60 หรือ เพิ่มขึ้น 27% โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ตั้งแต่ปี 61 ถึง 62
พร้อมทั้งจะเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง ของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวปี 2558-2579 (PDP 2015) ซึ่งประมาณการงบลงทุนในโครงการระบบเสาส่งไฟฟ้า แรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำหรับปี 59-63 อยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่ง TRT มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 25-30%
รวมถึงกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพของ กลุ่มงาน Steel Fabrication และงาน EPC ด้วยการเตรียมแผนเพื่อเข้ารับการรับรองมาตรฐานขั้นสูงต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ASME ซึ่งคาดว่าจะได้รับการรับรองมาตรฐานในปี 2560 ทั้งด้านศักยภาพการผลิต และบุคลากร เพื่อเพิ่ม Value Added ซึ่งสามารถทำให้ยอดขายของงานกลุ่มงานนี้ สามารถเติบโตจาก จาก 161 ล้านบาทในปี 59 เป็น 529 ล้านบาทในปี 60 โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% ต่อปี ตั้งแต่ปี 61-62
นายสัมพันธ์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังคงรักษาอัตรากำไรขั้นต้น ของกลุ่มบริษัท ถิรไทย เฉลี่ยอยู่ที 20-23% และจะเพิ่มศักยภาพ และเสริมทรัพยากรบุคคลในองค์ให้มีคุณภาพ และเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ