นายศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวถึง"Future of Payment:Blockchain เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก"ว่า ปัจจุบันธนาคารได้ทำการทดสอบบริการหนังสือค้ำประกันบนเทคโนโลยีบล็อกเชน (Enterprise Letter of Guarantee on Blockchain) บน Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และบริษัท พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ร่วมกันพัฒนายกระดับการจัดการเอกสารหนังสือค้ำประกันแก่หน่วยงานผู้รับหนังสือค้ำประกัน และคู่ค้าผู้วางหนังสือค้ำประกัน ซึ่งทำให้ระยะเวลาของการออกหนังสือค้ำประกันลดลงเหลือเพียงไม่เกินครึ่งวัน จากเดิมที่ใช้ระยะเวลา 9 วัน
ส่วนความสนใจของสถาบันการเงินรายอื่นและผู้ประกอบการพันธมิตรอื่นในการเข้าร่วมทดสอบและนำระบบบริการหนังสือค้ำประกันบนเทคโนโลยีบล็อกเชนบน Regulatory Sandbox ของ ธปท. ปัจจุบันมีผู้สนใจเข้ามาทดสอบราว 10 ราย ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน 2-3 ราย และส่วนที่เหลือเป็นผู้ประกอบการอื่นๆ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในเร็วๆนี้
ขณะที่บริการหนังสือค้ำประกันบนเทคโนโลยีบล็อกเชนจะสามารถออกจากการทดสอบบน Regulatory Sandbox ของธปท.ได้ในช่วงต้นปี 61 และจะเริ่มนำมาใช้กับลูกค้าของธนาคารรายอื่นอย่างเป็นทางการต่อไปในปี 61
“บริการ L/G บนบล็อกเชนเป็นการที่ช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเอกสารให้มีระยะเวลาที่สั้นลง จากเดิม 9 วัน เหลือไม่ถึงครึ่งวัน ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น และมีต้นทุนที่ลดลง ตอนนี้บริการ L/G บนบล็อกเชนของ KBANK อยู่ไนช่วงทดสอบบน KBANK ของธปท. ก็เริ่มมีผู้สนใจเข้ามาทดสอบเพิ่มเติมรวมๆประมาณ 10 ราย ทั้งสถาบันการเงินและผู้ประกอบการอื่นๆ โดยในกรณีที่สถาบันการเงินอื่นสนใจเข้ามาต่อยอด เรื่องของการลงทุนและผลตอบแทนก็คงต้องมีการพูดคุยกันอีกทีว่าจะแบ่งสัดส่วนกันอย่างไร แต่ตอนนี้สิ่งที่เราพัฒนาขึ้นมาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย และผลประโยชน์ของทุกคนในประเทศ"นายศีลวัต กล่าว
สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินของ KBANK ยังมุ่งเน้นไปที่การอำนวยความสะดวกการบริการด้านการทำธุรกรรมต่างๆ ของลูกค้าให้เกิดความประทับใจมากที่สุด ซึ่งได้เริ่มจากการพัฒนาระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่กลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่และกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี เพราะธนาคารมีมูลค่าการปล่อยสินเชื่อกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่และลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีมูลค่าสูง โดยจนถึง ณ สิ้นเดือน ส.ค.60 มียอดปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ราว 6 แสนล้านบาท หรือเติบโต 7.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีราว 7 แสนล้านบาท หรือเติบโต 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะเดียวกันยังมีการเติบโตด้านปริมาณการทำธุรกรรมการบริหารจัดการด้านการเงินที่เติบโตขึ้น 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเติบโตที่มาจากบริการเรียกเก็บเงินผ่าน Bill Payment บริการเรียกเก็บเงิน และบริการชำระเงิน อีกทั้งยังมีปริมาณหมุนเวียนทางการค้า (Trade Turnover) ที่เติบโตขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่ง KBANK มีส่วนแบ่งตลาดที่อยู่ในระดับสูงเฉลี่ย 30-40% ในตลาดสินเชื่อธุรกิจต่างประเทศ ตลาดการบริหารจัดการด้านการเงิน และตลาดผู้ให้บริการดูแลผลประโยชน์กองทุนรวม
ทั้งนี้ KBANK คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้หรือช่วงต้นปี 61 จะทดสอบบริการใหม่ที่เป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การบริการลูกค้าบน Regulatory Sandbox ของ ธปท.อีก 1-2 บริการ จากปัจจุบันมีเพียงบริการหนังสือค้ำประกันบนเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ได้ทดสอบการบริการอยู่ ซึ่งบริการใหม่ด้านอื่นจะเป็นบริการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินของกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่และกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี 4 ผลิตภัณฑ์ คือ ด้านบริการจัดการด้านการเงิน ด้านสินเชื่อบรรษัท ด้านธุรกิจต่างประเทศ และ ด้านธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อตอกย้ำความเป็น The Most Admiring Transactional Banking ของ KBANK