ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) ที่ระดับ “BBB+"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานของบริษัทในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย ตลอดจนรายได้ที่สม่ำเสมอจากการขายไฟฟ้า การสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่ และการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ในระดับหนึ่งจากการเป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมใน 2-3 ทำเล อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดบางส่วนจากธรรมชาติที่ผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนอุปสงค์ที่ดินที่ยังชะลอตัวในนิคมอุตสาหกรรมหลักของบริษัทในจังหวัดอยุธยา และระดับหนี้สินที่ค่อนข้างสูงของบริษัท
ROJNA เป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2531 โดยตระกูลวินิชบุตรและกลุ่มซูมิโตโม (Sumitomo Group) ณ เดือนมีนาคม 2560 ตระกูลวินิชบุตรมีสัดส่วนการถือหุ้น 29.2% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท รองลงมาคือ Sumikin Bussan Corporation ซึ่งถือหุ้นจำนวน 20.7%
นิคมอุตสาหกรรมของบริษัทตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทยปัจจุบันบริษัทเป็นเจ้าของและเป็นผู้พัฒนาสวนอุตสาหกรรมรวม 6 แห่งในจังหวัดอยุธยา ปราจีนบุรี ระยอง และชลบุรี ณ เดือนมิถุนายน 2560 บริษัทมีที่ดินคงเหลือสำหรับขายรวม 7,039 ไร่ ซึ่งประมาณ 44% อยู่ในจังหวัดอยุธยา 25% อยู่ในจังหวัดชลบุรี 16% อยู่ในจังหวัดระยอง และที่เหลือ 15% อยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี
การดำเนินงานของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ที่มีความสม่ำเสมอจากการขายไฟฟ้า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมคิดเป็น 20% ของรายได้รวมของบริษัท และอีก 80% มาจากรายได้ประจำที่มีความแน่นอนซึ่งส่วนใหญ่คือการขายไฟฟ้า บริษัทเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซขนาด 500 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 24 เมกะวัตต์ซึ่งดำเนินการผ่านบริษัทย่อย 2 แห่งคือ บริษัท โรจนะเพาเวอร์ จำกัด และ บริษัท โรจนะ เอ็นเนอร์จี จำกัด ด้วย จากกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 524 เมกะวัตต์ บริษัทขายไฟฟ้าจำนวน 294 เมกะวัตต์ภายใต้สัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) บริษัทขายกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนที่เหลือและขายไอน้ำให้แก่ลูกค้าในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมของบริษัทในจังหวัดอยุธยา โดยโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทตั้งอยู่ในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยา
บริษัทยังคงเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดอยุธยายังคงไม่ฟื้นตัวมาตั้งแต่ปี 2554 หลังจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถสร้างยอดขายจากนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 3 แห่งในภาคตะวันออกซึ่งช่วยลดผลกระทบจากยอดขายที่ดินในสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยาซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของบริษัทที่ยังไม่ฟื้นตัวนัก ทั้งนี้ ในปี 2556 บริษัทขายที่ดินได้ประมาณ 300 ไร่ ในปี 2557 ขายได้ 700 ไร่ และในปี 2559 ขายได้ 424 ไร่ โดยยอดขายที่ดินในสวนอุตสาหกรรมของบริษัทกว่า 80% มาจากพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในเขตภาคตะวันออก บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดเฉลี่ย 20% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเมื่อพิจารณาจากยอดขายที่ดินรวมทั้งประเทศ บริษัทที่ขายที่ดินได้มากที่สุดคือ บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน (HEMRAJ) (35%) และอันดับสองคือ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) (28%)
ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมมีความผันผวนขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจและการลงทุน เศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาส่งผลลบต่อความต้องการลงทุนและกระทบต่อยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จากรายงานของ CB Richard Ellis (CBRE) ระบุว่ายอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 1,442 ไร่ในปี 2559 และ 759 ไร่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ลดลงจากระดับ 4,000 ไร่ต่อปีในอดีต ทั้งนี้ ยอดขายที่ดินของบริษัทก็ลดลงด้วยเช่นกัน โดยลดลงเหลือ 424 ไร่ในปี 2559 และ132 ไร่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 เปรียบเทียบกับยอดขายที่ปีละ 500-700 ไร่ในอดีต
ผลประกอบการของบริษัทอ่อนตัวลงในปี 2559 ถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2560 จากระดับที่สูงในปี 2558 รายได้ของบริษัทลดลง 17.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 9,760 ล้านบาทในปี 2559 และลดลง 22.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 4,197 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ทั้งนี้ เนื่องมาจากการลดลงของยอดขายที่ดินและรายได้จากการขายไฟฟ้า บริษัทมีการโอนที่ดินในสวนอุตสาหกรรมให้แก่ลูกค้าจำนวน 405 ไร่ในปี 2559 และเพียง 5 ไร่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 เทียบกับระดับสูงถึง 800 ไร่ในปี 2558 นอกจากนี้ รายได้จากการขายไฟฟ้าก็ลดลง 5.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากการซ่อมแซมใหญ่และการย้ายเครื่องจักรบางส่วนด้วย
การลดลงของสัดส่วนรายได้จากการขายที่ดินที่มีกำไรสูงส่งผลทำให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อยอดขายของบริษัทลดลงจาก 37.6% ในปี 2558 มาอยู่ที่ระดับ 31.7% ในปี 2559 และ 25% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายก็ลดลงจากระดับที่สูงกว่าปกติที่ 4,362 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 2,974 ล้านบาทในปี 2559 และ 1,069 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2560
อันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงของบริษัท ทั้งนี้ ในช่วงปี 2555-2559 บริษัทได้ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมใหม่หลายแห่ง รวมทั้งมีการซ่อมแซมโรงไฟฟ้าเก่า เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเกือบเท่าตัว และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON) เงินกู้รวมของบริษัทจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงที่ระดับ 25,101 ล้านบาทในช่วงเดือนมิถุนายน 2560
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการควบคุมระดับหนี้สินด้วยการลดการจ่ายเงินปันผลลงและทำการเพิ่มทุนเป็นระยะ ทั้งนี้ หากไม่รวมผลกระทบจากการรวมงบการเงินกับ TICON แล้ว อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 65%-67% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ณ เดือนมิถุนายน 2560 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลดลงแต่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 59.1% การลดลงของอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทมาจากการมีกำไรทางบัญชีจำนวน 970 ล้านบาทจากการปรับเพิ่มมูลค่ายุติธรรมของหุ้นของ TICON ที่บริษัทได้ลงทุนไป ทั้งนี้ บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นใน TICON ลดลงจาก 43.6% เหลือ 26.1% ภายหลังจากที่ TICON ได้ขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวนมากให้แก่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด
ในอนาคตคาดว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น ประเทศไทยยังคงมีความน่าสนใจสำหรับการลงทุนในระยะยาวจากปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์และการมีระบบสาธารณูปโภคที่ดี นอกจากนี้ ยังมีโครงการสนับสนุนการลงทุนของภาครัฐทั้งในด้านสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกอีกด้วย รายได้ประจำของบริษัทโดยเฉพาะจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจากการมีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นและความต้องการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าแห่งใหม่ของบริษัทซึ่งมีกำลังการผลิตขนาด 110 เมกะวัตต์ได้เริ่มเดินเครื่องเมื่อไตรมาสที่ 3 ของปี 2560
ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 9,000-13,000 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1,400-2,000 ล้านบาทต่อปีโดย 80% จะมาจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนของบริษัทจะลดลงในช่วง 3 ปีข้างหน้า บริษัทและบริษัทย่อยมีแผนจะซื้อที่ดินเพิ่ม ตลอดจนพัฒนาที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่ และก่อสร้างโรงผลิตน้ำเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มอีกหลายโรง โดยขนาดของการลงทุนของบริษัทจะขึ้นอยู่กับยอดขายที่ดิน ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 60% ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะลดลงจากระดับ 8.4 เท่าในปี 2559 (ภายหลังจากการไม่รวมงบการเงินกับ TICON) มาอยู่ที่ระดับ 7 เท่าในปี 2562
ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าบริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าบริษัทจะสามารถจัดการสภาพคล่องให้เพียงพอต่อภาระหนี้ดังกล่าว ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าบริษัทมีเงินกู้ยืมระยะยาวประมาณ 2,400 ล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระและยังมีตั๋วแลกเงินที่จะครบกำหนดอีกจำนวน 2,490 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวน 1,500 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งมีเงินสดในมือและวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกจากสถาบันการเงินจำนวนรวม 3,320 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2560 บริษัทยังมีความสามารถในการระดมเงินจากตลาดทุนและมีความยืดหยุ่นทางการเงินจากการมีที่ดินที่ปลอดภาระจำนองอยู่อีกจำนวนหนึ่ง ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างขั้นตอนการออกหุ้นกู้และขออนุมัติเงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารเพิ่มเติมรวมมูลค่า 2,000 ล้านบาทเพื่อชำระหนี้เดิมและปรับเงินกู้ระยะสั้นเป็นระยะยาว
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานภาพทางการตลาดในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเอาไว้ได้ นอกจากนี้ สัดส่วนกระแสเงินสดจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าคาดว่าจะช่วยบรรเทาความผันผวนของธุรกิจขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมได้ อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นหากกระแสเงินสดและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากบริษัทมีการลงทุนที่ใช้เงินกู้เป็นจำนวนมากจนทำให้สถานะการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลง